ทีมข่าวคิดลึก ประเด็นที่ "ตู่" จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พยายามส่งสัญญาณ "ดิ้นสู้" ด้วยการกระตุกเตือนให้ "สุเทพ เทือกสุบรรณ"อดีตแกนนำ กปปส. อย่าเพิ่งหลงยินดีเร่งเผยตัวประกาศสนับสนุน "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกรอบ เพราะหนทางการเลือกตั้งนั้นดูท่าว่าจะอีกยาวไกล และแม้ "กำนันสุเทพ" จะยกเหตุผลขึ้นมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ว่าโอกาสและความเป็นไปได้นั้นมีสูงเพราะมี "250 ส.ว." อยู่ในมือก็ตามแต่จตุพร เชื่อว่าที่สุดแล้วหากพรรคการเมืองรวมพลังสู้กับ คสช. ในที่สุดแล้วจะเป็นฝ่ายกุมชัยชนะ มี ส.ส.ในมือเพื่อต่อกรได้ไม่ยาก ซึ่งนั่นหมายความว่า ทั้งหลายทั้งปวงต้องขึ้นอยู่กับ "เสียงประชาชน" เป็นสำคัญการส่งสัญญาณเอาหลังพิงประชาชนของ จตุพร ประธาน นปช. เช่นนี้แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเพราะด้วยสถานะของความเป็น "หัวหอกคนเสื้อแดง" การแสดงความมีตัวตนยังถือเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะต้องไม่ลืมว่าท่าทีของจตุพร ยังอยู่ในสายตาของพี่น้องคนเสื้อแดงด้วยกัน ที่รอฟังสัญญาณว่าในวันข้างหน้า พวกเขาจะรบต่อหรือจะสู้ในบริบทเช่นใด แม้จะดูเหมือนว่าโอกาสของบรรดาแกนนำคนเสื้อแดง หลายสิบชีวิตยังคงต้องเดินขึ้น-ลงศาลเพื่อต่อสู้คดีทางการเมืองกันอย่างต่อเนื่อง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าสถานการณ์ของคนเสื้อแดงเอง อยู่ในสภาพที่อ่อนล้าเต็มที ทั้งขาดแม่ทัพที่สามารถต่อกรกับทหารได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีคดีค้างคา ไปจนถึงการถูกสกัดท่อน้ำเลี้ยง หรือแม้แต่ "รางวัล" หากเข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยที่แทบไม่มีจริง ที่สำคัญไปกว่านั้น การที่จะได้เห็นพรรคเพื่อไทย เปิดทางต้อนรับ"คนเสื้อแดง" ให้กลับมาร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ เหมือนในวันวาน ดูจะเป็นเรื่องริบหรี่เต็มที ในทางตรงกันข้าม มีแต่จะหาทาง "ตัดขาด" เพื่อสลัดภาพที่ล่อแหลม สุ่มเสี่ยงต่อพรรคเพื่อไทย บทบาทของคนเสื้อแดงในเวทีการเมืองนั้น ต้องยอมรับว่ามีแต่จะลดน้อยถอยลงไป เพราะเวทีทางการเมืองจากนี้ไปมีทิศทางที่ชัดเจนว่าคสช.คือผู้กำหนดเกมทุกการเล่นทั้งกระดาน ! ล่าสุดยังปรากฏอาการดิ้นรนเพื่อต่อสู้หาทางรอดจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจากที่ตกเป็นเป้าหมายของการ "เซตซีโร่" โดยผ่านกลไกของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย กกต. ที่จะถึงขั้นโละกรรมการ กกต. ทั้ง 5 คน จากนั้นจะทำการเซตขึ้นมาใหม่ จำนวน 7 คน แม้กระบวนการขั้นตอนในการเซตซีโร่ กกต. จะไม่สะเด็ดน้ำ แต่งานนี้ กกต.เองไม่อาจนิ่งเฉย โดยไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อมีข่าวว่าทาง กกต. จะดำเนินการตั้งกรรมการสอบการถือหุ้นของ 9 รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจึงถูกตั้งสมมติฐานว่านี่คือการ "เอาคืน" จาก กกต.ใช่หรือไม่ ? ในความเป็นจริงแล้ว ต้องยอมรับว่า กระแสการเซตซีโร่ องค์กรอิสระโดย คสช. ผ่านกลไกแม่น้ำสายต่างๆและร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับนั้นล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือประเด็นที่ไม่เคยถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความหวาดระแวงกันมาก่อนแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม สุ้มเสียงที่ดังออกมาอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายการเมือง และองค์กรอิสระ ต่างเต็มไปด้วยความหวั่นไหวและเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า โรดแมปที่ คสช. กำหนดเอาไว้นั้นจะยุติลงที่การเลือกตั้ง จริงหรือไม่ ?