ทวี สุรฤทธิกุล
รัฐบาลกิจสังคมสมัยแรกพังเพราะ “ปลวกในบ้าน”
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนในตอนที่ทำวิทยานิพนธ์เรื่องพรรคกิจสังคมนี้ว่า พรรคกิจสังคมใน พ.ศ. 2518 แม้จะเป็นพรรคการเมืองใหม่ มีแนวคิดใหม่ๆ และคนใหม่ๆ อยู่มาก แต่ก็ยังเป็นพรรคที่อยู่ในระบบการเมืองแบบเดิมๆ พรรคการเมืองต่างๆ ยังคงแย่งชิงเอาแต่ผลประโยชน์ นักการเมืองยังโลภมาก และยังมีอำนาจน้อย สู้กับพวกข้าราชการโดยเฉพาะทหารนั้นไม่ได้
ก่อนที่ท่านจะเป็นนายกรัฐมนตรี ทุกเช้าท่านจะลงมาทานอาหารเช้าและอ่านหนังสือพิมพ์ พร้อมกับฟังเสียงนกมาร้องอยู่รอบข้าง มีสุนัขที่ภักดีสองตัวร่วมรับประทานอาหารและหมอบอยู่ข้างๆ แต่พอเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องคอยรับแขกแต่เช้า ทว่าแขกเหล่านั้นล้วนแต่เป็นนักการเมืองที่อ้างว่ามาเยี่ยมเยียน บ้างก็เอาสิ่งของโดยเฉพาะของรับประทานมาฝาก แต่ส่วนมากจะเอา “ความทุกข์” มาฝาก คือมาอ้อนวอนขอตำแหน่งต่างๆ บางคนเอาเรื่องนินทาว่าร้ายต่างๆ มาบอก และบางคนก็มาข่มขู่บีบบังคับ
ท่านเดินทางไปทำเนียบทุกวัน ตอนนั้นที่หน้าทำเนียบมีม็อบที่เรียกว่า “ไทยการ์ด” คืออดีตคนงานที่ทำงานอยู่ในฐานทัพของสหรัฐอเมริกาที่มาตั้งอยู่ในประเทศไทย ในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศ สมัยที่สหรัฐอเมริกายังทำสงครามในเวียตนาม พอสหรัฐถอนทหารออกไปและแพ้สงครามเวียตนาม ก็พอดีอยู่ในช่วงหลังจากที่ประเทศไทยได้เกิดเหตุการณ์วันที่14 ตุลาคม 2516 นักศึกษาและประชาชนพากันเดินขบวนขับไล่ให้สหรัฐยุบเลิกฐานทัพและถอนทหารออกไปทั้งหมด แรงงานคนไทยทั้งหมดจึงตกงาน แต่เกิดปัญหาว่าสหรัฐไม่ได้จ่ายค่าชดเชยต่างๆ ตามสัญญา จึงพากันมาเรียกร้องเอาจากรัฐบาล
ม็อบไทยการ์ดมาชุมอยู่นับเดือนบริเวณริมคลองหน้าทำเนียบ ถึงขั้นปลูกสร้างที่พักไปตามชายคลองนั้นอย่างแน่นขนัดนับร้อยครอบครัว ทำกับข้าวกับปลากินกัน ซักผ้า อาบน้ำ และขับถ่ายอยู่ในคลองนั้น เกิดมลภาวะก่อความเดือดร้อนแก่คนที่ทำงานอยู่ในทำเนียบมาก ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ให้นายปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปเจรจาแก้ไขสถานการณ์ หลังจากเจรจาอยู่หลายวัน นายปรีดากลับมารายงานว่าคงต้องคืนเงินให้พวกเขา เพราะ “ทหารอมเงินพวกเขา” โดยเล่ารายละเอียดว่าสหรัฐฯ จ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับฐานทัพในประเทศไทยผ่านกระทรวงกลาโหมของไทย ซึ่งกระทรวงกลาโหมก็มอบหมายให้เสนาธิการทหารเป็นผู้บริหารเงินก้อนนี้ (เสนาธิการทหารท่านนี้ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยอีกด้วย ผู้เขียนจึงขอไม่กล่าวนาม เนื่องจากอาจจะกระทบต่อลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่) ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ จึงขออนุมัติเงินจากกระทรวงการคลังมาจ่ายเงินชดเชยทั้งหมดนั้นให้ไป พร้อมกับจัดรถ บ.ข.ส.มารับบรรดาผู้ชุมนุมพร้อมครอบครัวทั้งหมดนั้นกลับสู่ภูมิลำเนา จนกระทั่งเหตุการณ์ทุกอย่างเรียบร้อย
รัฐบาลของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีปัญหากับทหารมาเรื่อย ดังที่ผู้เขียนเคยเขียนถึงมาแล้วในเรื่องการไปเปิดสัมพันธไมตรีกับจีน จนถึงเรื่องการปลุกปั่นยุยงนักการเมืองให้คอยจ้องล้มรัฐบาล จึงจะขอเล่าเฉพาะเรื่องที่ทหารได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับพรรคกิจสังคม คือในพรรคกิจสังคมก็มีคนที่เป็น “หนอนบ่อนไส้” อย่างที่เรียกในสมัยนี้ว่า “พวกอกหัก” หรือ “วอนนาบี” เพราะไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐบาล นักการเมืองเหล่านี้จะก่อตัวกันเป็นก๊วนต่างๆ ที่สื่อในสมัยนั้นเรียกว่า “มุ้ง” แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็สร้างปัญหาแก่รัฐบาลพอสมควร เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะเสนอกฎหมายอะไร หรือต้องลงมติโหวตในญัตติต่างๆ ก็ต้องคอยระมัดระวังนักการเมืองพวกนี้ โดยเฉพาะในการผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดิน ถึงขั้นที่ต้องมี “งบพัฒนา” แก่ ส.ส.ในแต่เขตเลือกตั้ง โดยมอบหมายให้ ส.ส.ในเขตเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมดูแลเงินก้อนนี้ (ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิดน่าจะเขตเลือกตั้งละ 5 ล้านบาท แล้วต่อมาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเขตเลือกตั้งละ 25 ล้านบาท แต่มาล้มเลิกไปในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์) กระนั้นก็ยังมีการก่อกวนอยู่เป็นระยะ
ในช่วงก่อนจะสิ้นปี 2518 พวก ส.ส.ในพรรคกิจสังคมก๊วนเดิมนั้น ได้ไปทานข้าวกับนายทหารที่มีอำนาจสูงสุดในกองทัพ และมีคนมารายงานกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า ส.ส.กลุ่มนี้ได้ไปให้ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของรัฐมนตรีบางคนในพรรคกิจสังคม จากนั้นอีกไม่กี่วันต่อมาก็มีการแถลงข่าวของพรรคฝ่ายค้านว่า จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยจะยื่นในทันทีที่เปิดศักราชใหม่ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เชิญ ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมประชุมและทานอาหาร โดยบอกว่าเป็นการ “เลี้ยงปีใหม่” แต่ปรากฏว่ามีคนมาร่วมน้อยมาก ท่านจึงมองเห็นว่านี่คือ “สัญญาณเตือนภัย” ที่จะต้องรีบแก้ไข ดังนั้นในวันที่ 12 มกราคม 2519 ท่านก็ประกาศยุบสภา เพื่อ “แก้เกม” ที่ ส.ส.เหล่านั้นได้สร้างขึ้น
การเลือกตั้งในครั้งต่อมามีขึ้นในวันที่ 4 เมษายน 2519 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ลงสมัครในเขตดุสิตทั้งที่แต่ก่อนลงสมัครในเขตพระนครมาโดยตลอด ทั้งนี้ก็เพื่อจะ “ชนกับทหาร” (ตามคำบอกเล่าของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็คือ พลตรีชาติชาย ชุณหวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในตอนนั้น ได้มาเสนอให้ท่านลงแข่งขันในเขตดุสิต เพื่อเป็นการพิสูจน์บารมี ถ้าชนะก็จะเพิ่มบารมีได้มาก แต่ถ้าแพ้ก็ไม่เสียอะไร เพราะทุกคนรู้ว่าเป็นเพราะฝีมือใคร) โดยมีคู่แข่งคนสำคัญคือนายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผลการเลือกตั้งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แพ้ไป 800 กว่าคะแนน แต่กระนั้นพรรคกิจสังคมก็ได้ ส.ส.ในจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น คือได้มาถึง 45 คน แต่ก็อยู่ได้เพียง 6 เดือน เพราะในวันที่ 6ตุลาคมปีนั้น ทหารก็ยึดอำนาจอีกครั้ง
ฝรั่งมีคำว่า “ทหารเก่าไม่มีวันตาย” แต่ประเทศไทยต้องพูดว่า “ทหารทุกสมัยยึดอำนาจได้เสมอ”