ประเทศไทยอยู่ภายใต้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็ยังเกิดความเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง เพื่อต่อต้านรัฐบาล
แม้จะมีสัญญาณว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในภาวะฝุ่นตลบ ทั้งต้องควบคุมสถานการณ์หลังกรณีทหารและลูกทูตต่างชาติ ที่ยังไม่พ้นระยะอันตราย 14 วัน ในการเฝ้าระวัง แม้เบื้องต้นจะไม่พบผู้ติดเชื้อจาก 2 กรณีดังกล่าวในขณะนี้ แต่ก็ยังไม่อาจวางใจ พร้อมกับต้องเร่งกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา และเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในขณะที่การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งในพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาล ก็ยังโกลาหล
กระนั้น การฉวยเอาเงื่อนไขข้างต้น ไสยช้างออกมาทำศึกนั้น อาจไม่สมเหตุสมผลนัก ด้วยสถานการณ์ก็ยังไม่สุกงอม จนถึงขั้นที่จะสั่นคลอนได้
การเคลื่อนไหวชุมนุมดังกล่าว เปรียบประหนึ่งเป็น “อีเวนต์การเมือง” ที่แฝงเร้นเบื้องหลัง ทัศนคติสุดอันตราย ก่อนปูทางรอการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 1 สิงหาคม 2563 หลังได้ข้อสรุปการพิจารณาว่ารัฐบาลจะต่ออายุพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ เพื่อยกระดับการชุมนุม
ขณะที่ในมุมของสาธารณสุข การชุมนุมกลายเป็นประเด็นที่น่าวิตกกังวล ด้วยข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanara ระบุตอนหนึ่งว่า “ที่จะเป็นภาวะคุกคามที่น่ากลัว และจัดการได้ยากคือ การชุมนุม หรือ Mass gathering ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะระบาดรุนแรงในหลายประเทศที่มีสถานการณ์เช่นนี้
การชุมนุม…มีทั้งเรื่องจำนวนคนที่มาก แออัด ใกล้ชิด อยู่กันเป็นเวลานาน มีการพูดคุยปลุกเร้าตะโกน และมีพฤติกรรมการป้องกันตัวน้อย เช่น ใส่หน้ากากบ้างไม่ใส่บ้าง ยังไม่นับการแชร์สิ่งของที่มีการจับต้องร่วมกัน
ดังนั้นนี่จึงจัดเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงสูงที่สุดของศึกในประเทศ…
โจทย์หลักของท่านนายกรัฐมนตรี ศบค. และ สมช.คือ การหยุดยั้งหรือห้ามการชุมนุมครับ จะด้วยการบังคับใช้กฎหมายหรือวิธีอื่นใดก็แล้วแต่
นี่คือเรื่องความเป็นความตายของประชาชนในประเทศ การจัดกิจกรรมเช่นนั้นในท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคที่ไม่มียารักษามาตรฐาน ไม่มีวัคซีนป้องกันนั้น เป็นการทำให้เกิดความเสี่ยงต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมสิทธิของบุคคลจะพึงมีก็ต่อเมื่อกระทำการโดยไม่ทำให้เกิดภัยอันตรายต่อบุคคลอื่น จะทำอะไรต้องรู้จักกาลเทศะ
การแสดงออกทำได้หลายทาง รัฐคงต้องขบคิดหาแนวทางที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายเห็นต่างนั้นได้นำส่งข้อมูลและแนวคิดเพื่อการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคม ตามแนวทาง รวมไทยสร้างชาติ ให้เป็นผลสำเร็จ”
หากพิจารณาบริบททั้งในเชิงการเมือง และสาธารณสุข การชุมนุม ยังไม่เหมาะไม่ควร ยิ่งในมุมเศรษฐกิจด้วยแล้ว ยิ่งน่าวิตกยิ่ง ว่าจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์วิกฤติ
กระนั้น เราเห็นว่า รัฐบาลต้องขจัดเงื่อนไขในการชุมนุม มากกว่าห้ามปรามการชุมนุม ประเด็นแรกที่สามารถดำเนินการได้ในทันทีในห้วงเวลานี้ คือ การแสดงออกถึงความจริงใจ ให้นักศึกษาและประชาชนเห็นว่า พร้อมรับฟังความคิดเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่พิธีกรรมเท่านั้น แต่หากมีธงในการเคลื่อนไหวที่สูงไปกว่านั้น ประชาชนทั่วไปน่าจะอ่านออก โอกาสจะจุดติดก็คงยาก