"บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูจะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ แม้ในยามนี้ ในฐานะ "หัวหน้าคณะรัฐบาล" กำลังรับมือกับแรงกดดันแทบทุกทาง แต่ถึงกระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังยิ้มได้ พร้อมทั้งบอกผู้สื่อข่าวที่ซักถามถึงความคืบหน้าเรื่องโผครม. สั้นๆว่า"เรียบร้อย ไม่มีอะไร" เมื่อหัวหน้าคณะรัฐบาล บอกอย่างตรงไปตรงมาแล้วว่าทุกอย่างเรียบร้อย ย่อมหมายความว่า ต่อไปนี้ "กลุ่มก๊วนการเมือง" ในพรรคพลังประชารัฐ ควรจะเลิกออกแรงกดดัน เสนอรายชื่อ "แกนนำ"ขึ้นมาจองเก้าอี้รัฐมนตรี กับนายกฯ และ "พี่ใหญ่" อย่าง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เสียที ! ตลอดหลายวันที่ผ่านมา ปฏิบัติการ "ริบเก้าอี้รัฐมนตรี" จาก "พรรคเล็ก" ทั้งจากพรรคชาติพัฒนา และทำท่าว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทย เองก็ยังต้องรอลุ้นว่า โควต้า "รมว.แรงงาน" จะยังคงเป็นของพรรคต่อไปหรือไม่ เพราะ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ผู้ก่อตั้งพรรค ต้องออกโรงเรียกร้องทวงคำมั่นสัญญาจากพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยกันถึงสองครั้งสองครา ขณะที่บรรดาส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ เองต่างดาหน้าเสนอชื่อ แกนนำคนสำคัญ จากกลุ่มสามมิตร อย่าง "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รมว.อุตสาหกรรม ว่าสมควรจะได้ไปนั่ง "รมว.พลังงาน" จน พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ต้องออกมาปราม "ไพบูลย์ นิติตะวัน" สมาชิกพรรค ด้วยท่าทีไม่สบอารมณ์นัก เพราะนั่นคือการกดดันไปยังตัวพล.อ.ประยุทธ์ การตัดสินใจปรับครม. จาก "ประยุทธ์ 2/1" ไปสู่ "ประยุทธ์2/2" ครั้งนี้ เป็นความจงใจที่บิ๊กตู่ เองต้องการ "ปิดเกมเร็ว" เพื่อสกัดความวุ่นวาย และลดแรงกระเพื่อม ทั้งใน -นอกพรรคพลังประชารัฐ ให้มากที่สุด อย่างไรก็ดี หากมองในอีกมุมหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่า การออกมาเคลื่อนไหวของส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล รอบนี้ทั้ง "2ป." บิ๊กป้อม และบิ๊กตู่ -บิ๊กป้อม คือการเปิดหน้าอยู่ในที ว่าใครสังกัดกลุ่มก๊วนไหน ใครเคลื่อนไหวเรียกร้องเก้าอี้รัฐมนตรี เพื่อใคร กระนั้นไม่ว่า แรงกดดันและความเคลื่อนไหวของบรรดาส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ จะออกฤทธิ์ ออกอาการ เมื่อไม่สมหวังกันมากเท่าใดก็ตาม แต่สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ แล้วการตัดสินใจปรับครม. ครั้งนี้คือการ "ถือเดิมพัน" ที่สูงลิบลิ่วไม่น้อย โดยเฉพาะการเฟ้นหามือดีเศรษฐกิจ ที่จะเข้ามาฟื้นฟูประเทศหลังโดนพิษไวรัสโควิด-19 กระหน่ำ จนสาหัสกันถ้วนหน้า ดังนั้นจึงไมต้องแปลกใจที่จะเห็น "ท่าที" ของบิ๊กป้อม เองในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการปรามความวุ่นวาย ไม่ให้ "ลาม"ไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ผู้นำรัฐบาล กลุ่มก๊วนในพรรคพลังประชารัฐเอง ต้องการอาศัยจังหวะปรับครม. รอบนี้ เพื่อมีส่วนร่วมในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้สุริยะ นั่งรมว.พลังงาน ทั้งที่รู้ดีว่า เป็นหนึ่งในเก้าอี้รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่นายกฯ ต้องการเลือกคนเข้าไปนั่งทำงานด้วยตัวเอง หรือแม้แต่การเสนอ พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ แล้วนั่งควบ "รมว.มหาดไทย" เพื่อหวังให้พรรคพลังประชารัฐ "กินรวบ" อำนาจการเมืองระดับท้องถิ่นอย่างเบ็ดเสร็จ แต่สุดท้าย ตัวพล.อ.ประวิตร ได้ออกมาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ว่าจะไม่ไปนั่งรมว.มหาดไทย จากนี้ไปจนกว่าจะได้เห็นโฉมหน้ารัฐมนตรีคนใหม่ ใน "ประยุทธ์ 2/2" มีความเป็นไปได้สูงว่า ความเคลื่อนไหวเมื่อมีใครที่ต้อง "พลาดหวัง" อาจจะออกฤทธิ์ ในทางใดทางหนึ่ง ได้โดยไม่ต้องเดา!