รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ พูดถึงวิถีชีวิตของนักศึกษา คงจะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึง “หอพัก” คงไม่ได้เพราะ “หอพัก” เป็น 1 ในปัจจัย 4 ไม่แพ้อาหารการกิน นักศึกษาที่จากบ้าน...มาพึ่งพิง “หอพัก” โดยเฉพาะนักศึกษาต่างจังหวัดคงไม่ใช่แค่เปลี่ยนที่นอนวันสองวัน คงต้องพูดเป็นปี ๆ หรืออย่างน้อยก็ 4 ปีสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี การใช้ชีวิตในหอพัก ให้สุขสบาย ปลอดภัย จะได้มีเรี่ยวแรงที่จะขยันหมั่นเพียรในการเรียน ก็ดูใช่ว่าจะราบรื่นไปเสียทุกคน เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ ในหอพัก ทำเอาผู้ปกครองไล่มาตั้งแต่พ่อแม่ พี่ป้าน้าอาที่ลูกหลานมาเรียนและเช่าหอพักอยู่ต่างก็อกสั่นขวัญหาย ไม่ว่าจะเป็นการถูกโจรกรรม การมั่วสุมเสพยาเสพติดไปจนถึงเรื่องชู้สาวและจบลงด้วยการฆาตกรรม หลักการเลือกหอพัก สำหรับนักศึกษา มีการพูดถึงไว้มากมาย นับตั้งแต่ การเลือกทำเลให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ ค่าเช่าพอรับไหวมั้ย มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากน้อยเพียงใด สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ที่สำคัญปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน คำว่า “หอใน” กับ “หอนอก” ที่หมายถึงหอพักของมหาวิทยาลัยและหอพักของเอกชน ก็มีผู้กล่าวถึงข้อดี ข้อเสีย เปรียบเทียบไว้ว่า “หอใน” ข้อดี ใกล้ เดินทางสะดวก ปลอดภัยกว่า เพราะมีกฎระเบียบและคนคุมหอที่เคร่งครัด รวมถึงอยู่ภายในมหาวิทยาลัย ราคาถูก สังคมอบอุ่น ได้เพื่อนใหม่ เพราะมักมีกิจกรรมร่วมกัน ข้อเสีย ต้องสมัครหรือจอง ในช่วงเวลาจำกัด มีเวลาเปิด-ปิดประตูหอพัก ไม่สามารถเห็นห้องจริงก่อนหรืออาจเลือกห้องไม่ได้ สุ่มรูมเมท สภาพเก่า ใช้งานหนัก ไม่ค่อยได้ปรับปรุง ไม่ค่อยมีสิ่งอำนวยความสะดวก ต้องขนไปเอง ไม่อนุญาตให้คนที่ไม่ได้พักเข้า “หอนอก” ข้อดี มีตัวเลือกมากมาย สามารถย้ายเข้าได้ตลอดเทอม มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทีวี ตู้เย็น ไมโครเวฟ มีความเป็นส่วนตัว และสามารถอยู่คนเดียวได้ พาพ่อ-แม่ , เพื่อน มาค้างได้ ใกล้แหล่งของกิน เช่น มินิมาร์ท ร้านค้า ร้านอาหาร ข้อเสีย ค่าใช้จ่ายสูง ต้องทำสัญญาเช่า/มัดจำเงินล่วงหน้า เสี่ยงอันตรายมากกว่าหากต้องกลับดึก คนเช่าหลากหลาย และกฎระเบียบที่ไม่ได้เข้มมากอาจทำให้เกิดความวุ่นวายมากกว่า ทั้งหมดคือ “ภาคทฤษฎี” ว่าด้วยเรื่อง “หอพัก” ! “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน” ก็ยังคงเป็นคำพังเพยไทยที่ใช้ได้ตลอดกาล โดยเฉพาะ “หอพักแบบไหน ? ที่ถูกใจนักศึกษา” ซึ่งสะท้อนมาจากผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จากนักศึกษาที่ต้องการพักหอพัก 567 คน (ระหว่างวันที่ 13-20 กรกฎาคม 2563) ระหว่าง “หอใน” กับ “หอนอก” นักศึกษาอยากพักหอพักของมหาวิทยาลัย 49.56% และหอพักของเอกชน 50.44% โดยให้เหตุผลว่า “หอพักของมหาวิทยาลัย” เดินทางสะดวก อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย, มีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดี ผู้ปกครองไม่ต้องเป็นห่วงเพราะอยู่ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัย, ราคาไม่แพงและสามารถอยู่คนเดียวได้, ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆได้มากกว่า, ต้องการรู้จักเพื่อน ได้ใกล้ชิดและใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อน, มีกฎระเบียบเคร่งครัดสามารถควบคุมได้ดี ฯลฯ ส่วน “หอพักของเอกชน” มีกฎระเบียบน้อย ไม่จำกัดเวลาเข้า-ออก มีความเป็นส่วนตัว เป็นอิสระ, มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆพร้อม เครื่องใช้ไฟฟ้าครบครัน ทำอาหารได้, มีหลายราคาและมีห้องให้เลือกหลากหลาย, เดินทางสะดวกอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย, สถานที่หรูหรา สวยงามกว้างขวาง ใหม่ สะอาด อยู่ใกล้ตลาด ฯลฯ ส่วนปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกหอพักนั้น อันดับแรก คือ ความปลอดภัย 92.33% อันดับ 2 ใกล้มหาวิทยาลัย 90.56% อันดับ 3 เดินทางสะดวก (ติดถนนใหญ่,อยู่ต้นซอย) 88.45 % อันดับที่ 4 ที่ตั้งของหอพัก 86.55% อันดับที่ 5 ใกล้แหล่งชุมชน/ตลาด/ห้างสรรพสินค้า 83.69% อันดับ 6 ค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ/ค่าไฟฟ้า/ค่าส่วนกลาง) 80.03% อันดับ 7 ขนาดของห้อง 79.10 % อันดับ 8 จำนวนผูเข้าพักต่อห้อง 76.81% อันดับ 9 ค่าประกัน 75.57% ราคาหอพักต่อเดือนที่เหมาะสมสำหรับนักศึกษา คือ ยอดเงินระหว่าง 2,000 – 3,000 บาท มองผ่านข้อมูล เรื่อง “หอพัก” แล้ว จะเห็นว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะในฐานะผู้อยู่อาศัยอย่าง “นักศึกษา” ได้สะท้อนถึงวิถีชีวิตของเด็กหอได้เป็นนัยๆ คงไม่มองข้อมูลนี้เพียงแค่ในฐานะผู้ประกอบการหอพักหรือผู้มีหน้าที่จัดการด้านหอพักเพียงเพื่อผลประกอบการกำไรขาดทุนเท่านั้น ข้อมูลข้างต้น...ถ้าได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วน แล้วนำมาปรับใช้ น่าจะได้ “ใจ” ผู้ใช้บริการอย่างนักศึกษาเต็ม ๆ แน่นอน