นอกจากกระแสปรองดอง นิรโทษกรรม ที่ถูกปลุกกระแสขึ้นมาเมื่อสัปดาห์ก่อนแล้ว ประเด็นเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ก็กลับมาอยู่ในโฟกัสประเทศไทยอีกครั้ง ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 คณะ จำนวน 185 คน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการเดิมและกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่หรือ สับเปลี่ยนคณะ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 257 ให้ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังต่อไปนี้
1. ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ
2.สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ
3. ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ขึ้นมา แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตั้งไข่กันมาตั้งแต่ปี 2560 เมื่อปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องช่วยกันจับตาการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 13 ชุด ให้แผนการปฏิรูปประเทศถูกทิศถูกทาง มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ทั้ง 3 ระยะ ระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ที่สำคัญคือ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับไปผลักดันขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ท่ามกลางวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความบอบช้ำให้กับประเทศไทยอย่างแสนสาหัส ท่ามกลางการแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการฟื้นฟูประเทศ ในขณะที่บรรยากาศทางการเมืองมีความอึมครึม จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และการช่วงชิงภาวะการนำ
กระนั้น ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ มีการจุดกระแสเรื่องของการนิรโทษกรรมขึ้นมา ซึ่งมีเสียงขานรับออกมาจากหลายฝ่าย
ทว่าในมุมมองของ นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ กล่าวว่า ตนอยากจะให้มีการนิรโทษกรรมอย่างเหมาะสม แต่มันเป็นเรื่องน้ำใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นประเด็นหลัก ที่ตัดสินใจจะขับเคลื่อน แต่คงจะไม่เหมาะกับภาวะความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนในช่วงนี้ ไม่ใช่การคำนวณทางการเมือง ว่าอะไรได้ อะไรเสีย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชน ที่นายธีรยุทธตั้งข้อสังเกตเอาไว้นั้น น่าจะเป็นมายาคติ ที่สำคัญ ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่การปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ทำให้ขาดการยอมรับจากกลุ่มที่มีความขัดแย้งกันอยู่
เราเห็นว่า การบ้านของคณะกรรมการปฏิรูปด้านการเมือง ข้อแรก จึงต้องหาคำตอบให้ได้ว่าจะทำอย่างไร จึงจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชน เพราะนี่ถือเป็นโอกาสสำคัญ เป็นช่วงเวลาสุกงอม เหมาะสม ในการที่จะสร้างการเมืองที่หันหน้าเข้าหากัน เพื่อฟื้นฟูประเทศชาติ
หากพลาดโอกาสทองนี้ อาจไม่มีหนทางให้แก้ตัวอีกครั้ง