ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังคงอึมครึม มีประเด็นที่ผุดขึ้นมาที่เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั่นกระแสเรียกร้องให้มีการผลักดัน เรื่องความปรองดอง และนิรโทษกรรม
ในที่ประชุมวุฒิสภา วาระรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติปี 2562 พร้อมรายงานของคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ได้อภิปรายเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี แสดงเจตจำนงนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อเป็นการสร้างบารมี สร้างระบบประชาธิปไตยที่มั่นคง มีธรรมาภิบาล รวมใจคนทุกภาคส่วนเข้ามา โดยมีร่างนิรโทษกรรมเป็นก้าวแรกก็จะก้าวต่อไปได้ โดยมี 4 แนวทางคือ 1.นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมการเมืองโดยตรง 2.นิรโทษกรรมเบื้องต้นเฉพาะผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว 3.ใครยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือหนีคดีไปนั้น ถ้ากลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาที่จะออกแบบตั้งขึ้นมา ย่อมได้สิทธินี้ และ 4.อาจจะต้องตีความนิยามการชุมนุมทางการเมืองผ่านการออกแบบจากคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมา
ก่อนหน้านี้ นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โพสต์ความเห็น เรื่อง “ปรองดอง-นิรโทษกรรม นิรโทษกรรม-ปรองดอง เพื่อลดความเกลียดชังของทุกฝ่าย” ในโซเชียลมีเดีย ใจความว่า การนิรโทษกรรมแกนนำ จะนำไปสู่การลดความขัดแย้งและความเกลียดชังของมวลชนทุกฝ่ายได้ ความปรองดองก็จะเกิดตามมา และจะเป็นผลดีต่อสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถานบันพระมหากษัตริย์ ชาติก็จะเดินต่อไปได้หลังเหตุการณ์ระบาดของไวรัส COVID – 19 ในทางกลับกันหากไม่มีนิรโทษกรรม แล้วจะนำไปสู่การปรองดอง ความเกลียดชังและความเคียดแค้นในอดีต จะคงดำรงอยู่ในหมู่ประชาชนระหว่างฝ่าย และความเกลียดชังนั้นอาจแปรผันไปสู่ความเกลียดชังต่อชนชั้นผู้ปกครอง ที่มีอำนาจในการออก พรบ.นิรโทษกรรม และสร้างความปรองดอง แล้วกลับไม่กล้าทำ ทำให้อาจถูกตีความได้ว่า ชนชั้นปกครองไทย มีนโยบาย "แบ่งแยกแล้วปกครอง" บนความเกลียดชังและความความเคียดแค้นในอดีต
ฝั่งของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงเรื่องนิรโทษกรรมคดีการเมืองว่า ส่วนตัวไม่สามารถพูดได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่จะบอกว่า โทษถึงตายกันทั้งนั้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ของประเทศขณะนี้ต้องกลับไปคิดว่า เราจะพกความขัดแย้งอย่างรุนแรงต่อไปอีกหรือไม่ เพราะประเทศไทยเดินมาถึงจุดที่กำลังจะเกิดวิกฤตสูงสุด
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ตนเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ควรจะทำนานแล้ว แต่หากทำวันนี้ก็ยังไม่สาย เพราะทุกคนต่างก็สรุปบทเรียนและลดบทบาทของตัวเองลงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสีใดก็ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งนี้การนิรโทษกรรมต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีเลศนัย ต้องอภัยกันจริงๆ ซึ่งตนคิดว่าสังคมจำเป็นต้องอภัยกัน
จากความเห็นข้างต้น เราเห็นว่า ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงมาถึงจุดร่วมกันคือ ต้องการนิรโทษกรรม โดยส่งเสียงไปยังฝ่ายปกครอง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่มาถึงห้วงเวลาที่เหมาะสม ถูกที่ ซึ่งหากวางกรอบออกมาให้ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย ก็มีโอกาสเป็นไปได้ ซึ่งหากทำให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อพัฒนาประเทศชาติได้ ต่อให้วิกฤติใหญ่กว่าโควิด-19 ไทยก็สามารถชนะได้