จู่ๆ ประเด็นว่าด้วยการ "นิรโทษกรรม" ก็ถูกจุดพลุขึ้นมา และที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น คือการที่ "ฝ่ายค้าน" เองมีท่าที ขานรับ สนับสนุนเปิดทางพร้อมรับ "ไมตรี"จากฝ่ายตรงข้าม คล้ายกับว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีความขุ่นข้องหมองใจ หรือปะทะกับ "ปีกรัฐบาล" ภายใต้การนำของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาก่อน ! ล่าสุดประเด็นที่ว่าด้วยการสร้างความปรองดองของคนในประเทศ ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม ได้รับคำตอบจากพล.อ.ประยุทธ์ แล้วว่า "ยังไม่ได้คิด ยังไม่เห็นเรื่อง" ท่าทีจากพล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่า ยังไม่ได้คิด ยังไม่เห็นเรื่อง ย่อมไม่ได้หมายความว่า จะเป็นการ "ปิดประตูตาย" ดับความหวัง ของใครก็ตามที่กำลังพยายามผลักดันให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมเกิดขึ้น ! ที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าวถูกจุดขึ้นมาโดย "คำนูณ สิทธิสมาน" สมาชิกวุฒิสภา ที่ออกมาเสนอให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองในอดีตเพื่อสร้างความปรองดองของคนในประเทศ โดยเป็นเสนอแนวทาง แนวคิดผ่านที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 14 ก.ค.63ที่ผ่านมา ว่าบ้านเมืองของเราเวลานี้น่าจะถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเร่งตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548-2563 เพราะความขัดแย้งทำให้สังคมแยกเป็น 2 ขั้ว " ถึงเวลาต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะการทำผิดของคนที่มาชุมนุมการเมือง หรือทำผิดทางอาญาที่มีเหตุเกี่ยวเนื่องชุมนุมทางการเมืองนั้น ไม่ใช่มีจิตเป็นอาชญากรโดยแท้ แต่ต้องการสังคมที่ดีกว่า ต้องการการเมืองใหม่ การปฏิรูปประเทศ การกระทำทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทำผิดกฎหมาย จึงต้องนิรโทษกรรมประชาชนทุกกลุ่ม นายกรัฐมนตรีอย่าลังเล" คำนูณ ได้อภิปรายตอนหนึ่ง ในวันประชุมวุฒิสภา สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) คือผู้ที่ออกมาขานรับ พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า สังคมจำเป็นต้องอภัยกัน และรัฐบาลควรเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้เพราะทุกคนมองว่ารัฐบาลไม่จริงใจกับเรื่องนี้ เนื่องจากเข้าไปเป็นคู่กรณี หากรัฐาลเป็นคนเริ่มและองค์กรอื่นรับและสนับสนุน เรื่องนิรโทษกรรมก็จะไปได้ ขณะที่ฝ่ายค้านยินดีสนับสนุน ไม่ว่าเหลืองหรือแดงก็ขอให้ลืมเรื่องที่ผ่านมาเพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน ส่วนจะสุดซอยหรือกลางซอยก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาต้นเหตุของปัญหา ว่ามากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ดี แนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องของการนิรโทษกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยมีการพูดและเสนอกันมาแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่อาจยังไม่ใช่ไทม์มิ่งที่เหมาะสม รวมทั้งสถานการณ์ยังไม่สุกงอมมากพอที่จะจุดพลุว่าด้วยการปรองดองขึ้นมา ความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากที่ "พรรคฝ่ายค้าน" อ่อนแรง ลงไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งทุนรอน และกำลังที่กล้าแข็ง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลแม้จะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย แต่ก็ดูเหมือนว่าพลังประชารัฐยังเป็นพรรคที่ดึงดูด "คนนอก" ให้เข้ามาร่วมสังกัดกันเป็นระยะๆ เมื่อพรรคพลังประชารัฐ และรัฐบาล อยู่ในจุดที่แข็งแกร่ง การตัดสินใจว่าจะเปิดประตูไปสู่การปรองดองด้วยมีกฎหมายนิรโทษกรรมรองรับ จึงกลายเป็น "แสงสว่าง" ที่อยู่ปลายอุโมงค์ ให้ ใครที่เคยอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลคสช. ได้พอมีความหวัง !