การลาออกจากพรรคพลังประชารัฐของ นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประกาศลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ แม้จะยังคงสถานะรัฐมนตรีและตำแหน่งทางการเมืองก็จริง
แต่ในทางปฏิบัตินั้นมีสัญญาณสำคัญ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยกเลิกการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2563 แทน และเรียกประชุมทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจที่มีภาครัฐและเอกชนแทน จากนั้นก็มีคำสั่งตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีรูปแบบการปฏิบัติงานแบบบูรณาการ เช่นเดียวกับศูนย์การบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.
โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เป็นทิศทางที่ดี ที่ทางรัฐบาลได้เชิญภาคเอกชน อาทิ ส.อ.ท, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.), ภาคการท่องเที่ยว สมาพันธ์เอสเอ็มอี และสมาคมธนาคารไทย เป็นต้น ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มองว่าการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ และทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย เข้าใจถึงปัญหาและแก้ไขได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
“การนำกลุ่มที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจตัวจริงมาร่วมกันแก้ปัญหาถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการแก้ไขให้เกิดการกระตุ้นใช้จ่ายในประเทศได้อย่างถูกจุดประสงค์ โดยทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของนายกฯ ที่ต้องการเป็นนายกฯแบบนิวนอร์มอล จะเห็นจากการเดินสายสร้างความเข้าใจกับทุกกลุ่มรวมถึงสื่อมวลชน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจในเรื่องการดำเนินการของภาครัฐมากขึ้น”
พร้อมกันนี้ นายเกรียงไกร ยังเสนอความเห็นว่า สิ่งที่ศูนย์ฯต้องเร่งดำเนินการ คือ ในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งวัดได้จากมาตรการสินเชื่อ 5 แสนล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาก่อนหน้านี้ มีผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพียง 9 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 20% นอกนั้นไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ มองว่าต้องรีบช่วยเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้ยังสามารถประคองธุรกิจไปได้โดยด่วน เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด หากไม่รีบแก้ไขอาจส่งกระทบเป็นโดมิโนทำให้ธุรกิจต้องปิดตัว เกิดการว่างงานมากขึ้น และจะส่งผลถึงสถาบันการเงินในที่สุด
เราเห็นว่า ในสถานการณ์ที่วิกฤติโควิด-19 ระลอกแรกคลี่คลายลง และสามารถควบคุมได้ ศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 จะมีบทบาทสำคัญนับจากนี้ ตามหลักการที่เราเคยเสนอในบทบรรณาธิการสยามรัฐให้ ใช้ “เศรษฐกิจ” นำ “การเมือง”
เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือความไม่เป็นเอกภาพในทีมเศรษฐกิจ ฉะนั้น การตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้นมา จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ และบูรณาการการทำงาน มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะแก้ไขปัญหาได้ฉับไวขึ้น โดยต้องจับตาโครงสร้างของกรรมการที่จะออกมาด้วย ซึ่งจะสะท้อนนัยสำคัญต่อสถานการณ์
ขณะเดียวกัน บทบาทของ ประธานศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจนี้ เป็นเดิมพันสำคัญของประเทศไทยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็เป็นเดิมพันสำคัญของพล.อ.ประยุทธ์ ในการเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธา จากที่เคยสบประมาทในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ