การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวพยุงไว้ จากการท่องเที่ยวของชาวไทยและต่างชาติมีสัดส่วน 21.6% ของจีดีพี ในระหว่างที่ยังไม่มีพระเอกคนใหม่ที่จะมาพยุงเศรษฐกิจ และช่วยกระจายไปยังภาคธุรกิจอื่นๆนั้น หนึ่งในมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยว จึงมีการพูดถึงโครงการ “ทราเวล บับเบิล” หรือการจับคู่ประเทศท่องเที่ยว ท่ามกลางเสียงคัดค้านของอาจารย์หมอ ที่เป็นคลังสมองในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมองว่ามาตรการดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับการ “รนหาที่” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ระบุว่า “วันนี้...เลขคี่กลางๆ ทั้งหมดมาจากต่างประเทศ UAE และอียิปต์ มีหลายคนที่ตรวจจากประเทศต้นทางแล้วพบว่าไม่ติดเชื้อ พอเดินทางมาถึงไทย กักตัวเฝ้าสังเกตอาการใน state quarantine แล้วตรวจพบว่าติดเชื้อ ขอให้ทุกคนปลอดภัยและหายไวไวครับ ตอกย้ำให้เราเห็นสัจธรรม 2 ข้อ หนึ่ง ถึงตรวจมาจากต้นทางว่าไม่ติดเชื้อ ก็ไม่สามารถการันตีว่าไม่ติดเชื้อได้ สอง การกักตัวเฝ้าสังเกตอาการ 14 วันและตรวจซ้ำเป็นระยะนั้นสำคัญยิ่งนัก” หากอ่าน และเข้าใจ...แนวคิดฟองสบู่ท่องเที่ยว ฉันเชื่อใจเธอ เธอเชื่อใจฉัน เราจะไม่กักกัน จึงขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง หลักฐานการตรวจจากต้นทางไม่สามารถนำมาใช้การันตีความปลอดภัย และไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่กักตัว ไม่มีประเทศใดที่ปลอดภัย 100% และจำนวนมากก็กำลังระบาดรอบสองโดยไม่สามารถคุมได้.... สู้กันมาหลายเดือนแล้ว จะมาตกม้าตายเพราะนโยบายที่หวังเอาเงินแลกกับความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของทุกคนในประเทศไม่ได้เด็ดขาด” อย่างไรก็ตาม นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการกพท.กล่าวว่า เดิมคาดหวังว่าเดือนสิงหาคมจะสามารถคลายล็อกเริ่มการให้บริการเดินทางโดยสารอากาศยานระหว่างประเทศได้ ในลักษณะของทราเวล บับเบิล หรือ มาตรการที่หลายประเทศจะร่วมมือกันเปิดให้นักท่องเที่ยวที่เป็นประชากรของประเทศในกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศเหล่านี้ได้อย่างเสรี แต่ยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศนอกกลุ่มโดยเริ่มจากการจับคู่ประเทศในภูมิภาคที่การระบาดลดน้อยลงหรือสถานการณ์ดีขึ้นเช่นเดียวกับไทย ได้เริ่มมีการเจรจากับหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี แต่สถานการณ์ล่าสุด ประเทศเหล่านี้ประสบปัญหาการระบาดระลอก 2 ไปแล้ว ทำให้แนวทางที่จับคู่การบินคงต้องชะลอออกไปไม่มีกำหนดและยังต้องจับตาสถานการณ์การระบาดในประเทศต่างๆ ตลอดเดือนนี้ด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายชัดเจนที่ต้องคำนึงถึงมาตรการสาธารณสุข ของกรมควบคุมโรค ก่อนหน้านี้ หลายสายการบินของไทยที่ทำการบินระหว่างประเทศ ส่งสัญญาณเตรียมพร้อมที่จะเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศ ในเดือนกันยายน ขอให้รอนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล และสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) ก่อน เราเห็นว่า การชะลอทราเวลบับเบิลออกไป เป็นการลดความเสี่ยงต่อการเปิดประตูรับเชื้อโควิด-19 ในขณะเดียวกัน เป็นบททดสอบที่สำคัญสำหรับผู้เกี่ยวข้องในการประคับประคองธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งมาตรการรองรับปัญหาการปิดกิจการ การเลิกจ้าง และพัฒนาธุรกิจให้มีความหลากหลายเพื่อรองรับผลกระทบในระยะยาว ดังนั้นการผ่อนคลายให้ธุรกิจภายใจได้บ้าง ย่อมดีกว่าเกิดการระบาดระลอกสองต้องกลับไปล้อกดาวน์กันอีกครั้งนั่นเท่ากับปิดประตูตาย