ในสถานการณ์ที่ไทยได้สิ้นสุดการระบาดในคลื่นลูกที่ 1 แล้ว หลังจากไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นระยะเวลา 44 วัน อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องเตรียมรองรับการระบาดคลื่นลูกที่ 2 เนื่องจากทั่วโลก การระบาดยังเพิ่มขึ้นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรฐานสาธารณสุขของไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดเล็ก หารือถึงแนวทางการจัด Medical and wellness program โดยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. กล่าวว่า หลังจากนี้จะใช้คำว่าโปรแกรม จะไม่ใช้คำว่าทัวริสซึ่ม เพราะผู้ที่เดินทางเข้ามาคือ ผู้ป่วย โดยจะเป็นผู้ที่เข้ามาผ่านทางเมดิคัล ฮับ (Medical Hub) ซึ่งประเทศไทยมีชื่อเสียงมาก และเพื่อการหมุนเวียนเศรษฐกิจ วัตถุประสงค์คือ การกักกันตัวร่วมกับการรักษาพยาบาล เป้าหมายคือ ผู้ป่วยและผู้ติดตาม ชาวต่างชาติที่มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาพยาบาลเท่านั้น ตามโรคเฉพาะกลุ่ม เดินทางด้วยสายการบิน โดยรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายเอง รักษาพยาบาลรวมกักกันตัวจนครบ 14 วัน ในสถานพยาบาลที่กำหนด และต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวม 3 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ และเพื่อให้ไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ขึ้นทะเบียนรวม 34 ประเทศ รวม 3 เดือน ผู้ป่วย 1,169 คน และผู้ติดตาม 1,521 คน โดยจากประเทศทางอาเซียน 1,685 คน จีน 389 คน ยุโรป 23 คน เอเชียใต้ 125 คน ตะวันออกกลาง 427 คนอเมริกาเหนือ 16 คน โอเชียเนีย 1 คน และแอฟริกา 23 คน โดยทิศทางคือ ก่อนเข้ามาจะต้องปลอดเชื้อโควิด-19 กระทรวงการต่างประเทศอนุมัติ ระหว่างอยู่ในประเทศไทย 14 วัน ในสถานพยาบาล และไม่ให้กลับออกก่อน 14 วัน ขณะที่นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการให้คนที่ไม่มีสัญชาติไทย เข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยได้ เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศตามนโยบายเมดิคัลฮับ (Medical Hub)ว่า ในเฟสแรกต้องเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติรักษาต่อเนื่องกับสถานพยาบาลในไทยอยู่เดิม ไม่ใช่กรณีเข้ามาเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ต้องมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้าเท่านั้น รับเฉพาะที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ จำกัดจำนวนผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน โดยมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือทั้งผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องแสดงใบรับรองแพทย์ ยืนยันว่า ไม่มีเชื้อโรคโควิด-19ประกอบด้วย 1.เมื่อเดินทางมาถึงและอยู่ในช่วงการรักษาต้องตรวจแบบ RT-PCR ตรวจจากสารคัดหลั่งทางพันธุกรรม ในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางเข้ามา ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-7ของการรักษา และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 13-14 ของระยะเวลาที่กักกัน 2.เมื่อเดินทางเข้ามาแล้ว ต้องกักกันตัวในห้อง Isolation ward (ห้องเดี่ยว) ในสถานพยาบาลเดียวกัน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน 3.ต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลกรณีโรคโควิด-19 ต้องมีเอกสารหลักฐานทางการเงินที่แสดงถึงหลักประกันว่าสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกิดขึ้นทั้งหมดเอง และมีเอกสารรับรองหรือใบนัดหมายการรักษากับสถานพยาบาลในไทย 4.หากแผนการรักษาเสร็จสิ้นก่อน 14 วัน สถานพยาบาลต้องกักกันตัวผู้ป่วยและผู้ติดตามต่อจนครบ 14 วัน และตรวจยืนยันว่าไม่มีโรคโควิด-19 จึงจะอนุญาตให้ออกจากสถานพยาบาลได้ และอาจอนุญาตให้กลุ่มดังกล่าวไปในพื้นที่ท่องเที่ยวที่กำหนดได้ 5.ตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทย ผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องดาวน์โหลดระบบติดตามตัวหรือติดตั้งแอปพลิเคชันตามที่ราชการกำหนด เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามอาการทุกวัน กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าตลอดระยะเวลาการรักษาพยาบาล กลุ่มผู้ป่วยและผู้ติดตามไม่สามารถออกนอกสถานที่กักกันได้ จนกว่าจะมั่นใจว่าปลอดเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการป้องกันและควบคุมโรค อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการปกป้องคุ้มครองคนไทย ฉะนั้นหากที่สุดตัดสินใจเปิดรับผู้ป่วยต่างชาติแล้ว ต้องมีมาตรฐานสูง มีระบบเตือนภัย ไม่ให้เกิดความเสี่ยงแม้เพียง 0.01 เปอร์เซ็นต์ กระบวนการคัดกรองผู้ป่วยต่างชาติเข้าไทยจึงต้องเข้มแข็งและเข้มข้น ตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่องบิน ระหว่างอยู่บนเครื่องบินและหลังเหยียบแผ่นดินไทย เพราะหากทำไม่ได้หรือเกิดความผิดพลาดขึ้นจะรับผิดชอบไม่ไหว