สมบัติ ภู่กาญจน์
ผู้ที่เคยอ่านนวนิยายเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ของคึกฤทธิ์ ปราโมช คงจะจำกันได้ว่า นวนิยายเรื่องนี้เริ่มเรื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า โดยฉากแรกเปิดขึ้น เมื่อ‘แช่ม’ภรรยาระดับรองที่ไม่ถึงขั้นคุณหญิงของพระยาคนหนึ่ง ตัดสินใจเลิกใช้ชีวิตอยู่ในบ้านร่วมกับสามี แล้วพาลูกสาวอายุ 10 ขวบชื่อ ‘พลอย’ออกจากครอบครัวพระยาที่บ้านริมคลองบางหลวง มุ่งหน้าสู่พระบรมมหาราชวัง เพื่อพบกับคนในวังที่ตนรู้จัก ซึ่งเป็นข้าหลวงของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง เพื่อที่จะฝากลูกสาวไว้ถวายตัวรับใช้เจ้านายพระองค์นั้นในอนาคตต่อไป
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน และไม่รังเกียจที่จะรู้จักนวนิยายเรื่องนี้ ควรจะทราบว่า, นวนิยายที่เขียนขึ้นเมื่อกลางปีพ.ศ.2494 ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเงียบอึมครึม (ซึ่งผู้เขียนใช้คำว่า ‘วังเวง’ ดังที่ผมอ้างถึงไว้เมื่อตอนที่แล้ว) โดยมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหารบริหารประเทศอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นปีที่สี่ และพระมหากษัตริย์ยังมิได้ประทับอย่างเป็นการถาวรอยู่ในประเทศ อีกทั้งฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลก็ดูเหมือนจะยังมีแฝงตัวอยู่ในความไม่รู้ของผู้คน นั้น, นิยายเรื่องนี้น่าจะเป็น ‘การสื่อสาร’ประการหนึ่ง ที่ทั้งรัฐบาลและผู้อ่าน ต่างก็คงต้องคอยจับตาว่า ผู้เขียน พยายามจะนำเสนอสิ่งใด?
ในการเขียนนิยาย ‘สี่แผ่นดิน’ วันต่อวัน ลงในหน้าหนังสือพิมพ์มาถึงวันที่หก คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงฝีมือการเขียนมาเป็นเรื่องราว ที่คนทุกระดับ สามารถ‘อ่านได้และอ่านเข้าใจ’ ด้วยเนื้อหาดังนี้
************** **************
“อ้อ! พลอย” แม่พูดขึ้นเหมือนอย่างกับเพิ่งนึกอะไรออก “เวลาเข้าประตูละก็ ต้องข้ามธรณีประตูให้พ้นเทียวนะ อย่าไปเหยียบ หรือเอาเท้าไปแตะเข้า เดี๋ยวจะเกิดเรื่อง”
พูดแล้ว แม่ก็นำพลอยรีบเดินใกล้ประตูเข้าไป พลอยสะดุ้งสุดตัว ความสนใจหลุดจากของแปลกอื่นๆมารวมอยู่ที่ธรณีประตูที่เห็นอยู่ข้างหน้านั้นทันที ธรณีประตูนั้นทำด้วยไม้เหลี่ยมค่อนข้างใหญ่ แต่ไม่ใหญ่ถึงกับจะข้ามไม่พ้น มีรอยคนมาปิดทองไว้บ้างเป็นระยะๆ และใกล้ๆขอบประตูนั้นก็มีธูปปักอยู่ที่ริมขอบประตู ด้านในนั้น มีผู้หญิงสาวบ้างแก่บ้างนั่งอยู่ทั้งสองข้าง พลอยมาทราบทีหลังว่า หญิงเหล่านั้นมีหน้าที่เฝ้าประตูวัง และหน้าที่อื่นๆอีกมากมายหลายอย่างในวัง เป็นข้าราชการอยู่ในกรมโขลน ชาววังทั่วๆไปเรียกกันว่า โขลน
ถ้าหากแม่ไม่เตือนพลอยขึ้นมาโดยกระทันหันเรื่องธรณีประตูวัง พลอยก็อาจไมรู้ความสำคัญและไม่สนใจ และด้วยเหตุนั้นพลอยจึงอาจก้าวข้ามธรณีประตูนั้นเข้าไปโดยมิต้องพะว้าพะวังอย่างใดเลย แต่พอแม่พูดขึ้นมา ความสนใจของพลอยก็หลุดจากที่อื่น มาอยู่ที่ธรณีประตูนั้นแห่งเดียว และเพ่งเล็งธรณีประตูนั้น ด้วยความวิตกวิจารณ์เป็นอย่างยิ่ง
พลอยยิ่งเดินใกล้ธรณีประตูนั้นเข้าไป ธรณีประตูนั้นก็ยิ่งดูทั้งสูงทั้งใหญ่ เพิ่มความน่าสพึงกลัวยิ่งขึ้นทุกที สิ่งอื่นๆที่อยู่รอบๆตัวนั้นดูเลือนรางหายไปหมด แม้แต่คนที่เดินเข้าเดินออกกันอย่างสับสนนั้นก็จางลงไป เห็นแต่เป็นเงาๆ สิ่งที่เด่นอยู่ในสายตาของพลอย และยิ่งเด่นขึ้นทุกก้าวที่พลอยเดินใกล้เข้าไป ก็คือธรณีประตูที่ปิดทองไว้เป็นแห่งๆนั่นเอง จนดูเหมือนกับว่าได้เปลี่ยนสภาพจากท่อนไม้ธรรมดาสามัญที่สุด มาเป็นสัตว์ร้ายอันน่าสยดสยอง นอนขู่คำรามขวางทางอยู่ และสัตว์นั้นดูเหมือนจะร้องว่า “ อย่าเข้ามา! อย่าเข้ามา! อย่าเหยียบ! อย่าเหยียบ!เข้ามาแล้วต้องก้าวให้พ้น!”
ส่วนในใจของพลอยนั้น ก็นึกด้วยความหวาดหวั่นว่า “ไม่พ้นแน่ ไม่พ้นแน่! ที่นี่เป็นวังหลวง วังของในหลวง ใครทำผิดอะไรนิดเดียวเขาเอาไปเฆี่ยน ไปขังคุก ไปตัดหัว ใครเหยียบธรณีประตู เขาเอาไปตัดหัว! ดูซี! ไม่มีใครกล้าเหยียบสักคน ใครเดินเข้าเดินออกต้องกระโดดข้ามทุกคน แต่เราก้าวข้ามไม่พ้นแน่ เพราะใหญ่ออกอย่างนั้น สูงออกอย่างนั้น”
ใจพลอยเต้นระทึกไปด้วยความประหม่า ตาทั้งสองจ้องดูธรณีประตูนั้นเขม็ง และมือทั้งสองนั้นก็กำแน่น พลอยรู้สึกว่าเหงื่อมือออกเปียกไปหมดในอุ้งมือ เท้าทั้งสองข้างที่เดินตามแม่ ก็ก้าวช้าลง นางพิศที่เดินถือหีบตามมาข้างหลังร้องเร่งว่า
“เดินเร็วๆซีแม่พลอย อย่าไถล ดูซี คุณแม่เข้าประตูไปแล้ว” จริงอย่างนางพิศว่า แม่ก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไปอย่างกระฉับกระเฉง พร้อมกับหันไปทักทายกับใครคนหนึ่งที่นั่งอยู่ข้างประตู เสียงแม่เรียกคนๆนั้นว่า จ่า
พลอยตัดสินใจโดยรวดเร็ว เป็นตายอย่างไรก็จะต้องตามไปให้ถึงตัวแม่จนได้ พลอยรีบสาวเท้าก้าวเดินตรงเข้าไปที่ประตู พอถึงประตู ก็รู้สึกตัวเย็นวูบ หลับตาทั้งสองข้าง ยกเท้าข้างหนึ่งให้สูงที่สุด และก้าวออกไปเท่าที่นึกว่าจะเป็นก้าวที่ยาวที่สุดในชีวิต พอวางเท้าลงบนพื้น พลอยก็ลืมตาขึ้น แล้วก็เห็นว่า ตัวเองกำลังยืนอยู่บนธรณีประตูนั้นพอดี
พลอยใจหายวาบ เหงื่อไหลประทุออกมาพรั่งพรู ไม่มีใจที่จะมองเห็นโขลนที่นั่งอยู่อ้าปากตกตะลึง ไม่ได้เหลียวไปดูว่านางพิศที่เดินตามมาข้างหลังยกมือตบอกดังผลุง พลอยเผ่นลงจากธรณีประตู วิ่งตรงไปที่ตัวแม่อย่างไม่คิดชีวิต
“หยุด” เสียงใครคนหนึ่งร้องราวกับฟ้าผ่า “หยุดเดี๋ยวนี้! กลับมาที่นี่ก่อน!” เสียงนั้นร้องสำทับมาอีก
พลอยวิ่งมาถึงตัวแม่ และด้วยอารามตกใจจะวิ่งเลยไปอีก แต่แม่คว้าแขนพลอยไว้ แล้วร้องถามด้วยความตกใจว่า
“พลอย อะไรกันลูก! หยุดก่อน ลูกไปทำอะไรมา!” แต่แล้วแม่ก็เข้าใจทันที ทรุดตัวลงนั่งกอดพลอยไว้ แล้วหัวเราะจนน้ำตาไหล
“พลอย” แม่พูดพลางหัวเราะพลาง “นี่ไปเหยียบธรณีประตูวังเข้าแล้วสิ แม่ก็เผลอไปเอง ไม่ทันดู” แล้วแม่ก็หัวเราะต่อไปอีกอย่างขบขันเสียเต็มประดา
เมื่อเห็นแม่หัวเราะอย่างขบขัน พลอยก็ใจชื้นขึ้นเป็นกอง ค่อยๆเหลียวหน้าไปดูทางประตูที่เกิดเหตุ เห็นโขลนคนที่ส่งเสียงเรียก กำลังชี้ให้พวกพ้องดูพลอยแล้วก็กวักมือเรียกพลอยให้กลับไปที่ประตู พลอยเห็นดังนั้นก็มองตาแม่ แต่แม่พยักหน้าบอกว่า “ไปเถิดลูก แม่จะไปด้วย ไปกราบธรณีประตูเสียก็หมดเรื่อง ไม่มีใครเขาทำอะไรหรอก” แล้วแม่ก็กระซิบที่หูพลอยเบาๆว่า “พลอยจะอยู่ในวังต่อไปจำไว้ให้ดี อย่าไปเกิดเรื่องกับโขลน แกด่ายับทีเดียว เราสู้เขาไม่ได้หรอก”
แม่จูงมือพลอยกลับไปที่ประตู เสียงผู้หญิงอายุกลางคนที่แม่เรียกจ่าถามว่า “นั่นลูกแม่แช่มหรือ ถ้าจะไม่เคยเข้าวังละซี”
“ลูกฉันเองละค่ะ” แม่ตอบ “จะเอามาถวายเสด็จ ฝากคุณจ่าด้วยนะคะ” พลอยได้ยินแม่พูดก็เหลือบไปเห็นจ่านั่งอยู่บนเสื่อ กำลังเอายาฉุนขึ้นสีฟันแล้วจุกกับหมาก จ่านั้นเป็นหญิงที่แต่งตัวแปลกที่สุดที่พลอยเคยเห็น จ่านุ่งผ้าพื้นสวมเสื้อจีบที่เอว แขนยาวแบบเสื้อกระบอก ห่มผ้าทับข้างนอก ที่แปลกที่สุดสำหรับพลอยก็คือ บนแขนเสื้อจ่านั้นติดบั้งสี่บั้ง
*********** ************
สี่แผ่นดิน ตอนที่หกนั้นจบลงเพียงแค่นี้ ขณะที่หนังสือพิมพ์วางตลาด บ้านเมืองไทยก็เกิดเหตุการณ์รุนแรง ที่เรียกกันภายหลังว่า ‘กบฎแมนฮัตตัน’ขึ้นมา โดยมีทหารเรือกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล โดยนายทหารชั้นนาวาโทคนหนึ่งบุกเข้าจี้จับตัวนายกรัฐมนตรี เอาไว้เป็นตัวประกัน รัฐบาลสู้กลับโดยใช้ทหารบกและทหารอากาศต่อต้านทหารเรือกลุ่มดังกล่าว เหตุการณ์ตอบโต้ดูเหมือนจะกินเวลาเกือบสองวัน ก่อนที่จะจบลงด้วยรัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ ทหารอากาศทิ้งระเบิดจมเรือรบหลวงไปลำหนึ่ง ฝ่ายต่อต้านหลบหนีไป และนายกรัฐมนตรีหนีรอดได้จากการถูกจับเป็นตัวประกัน
เมืองไทย มิใช่จะไม่เคยมีเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆเกิดขึ้น คนไทยในอดีตเคยผ่านเหตุการณ์สารพัดอย่างมาแล้ว และชาติก็ยังอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงปัจจุบัน การบริหารประเทศและการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังน่าจะเรียนรู้อดีตเอาไว้ให้มาก ๆ
ซึ่งการใช้เสรีภาพตามโมเดลคึกฤทธิ์ตอนต่อไป จะมีสิ่งที่สนุกมากยิ่งขึ้น ผู้สนใจกรุณาติดตามต่อไปครับ