ทีมข่าวคิดลึก
เกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้นมาหลายริกเตอร์ เมื่อสัญญาณการเซตซีโร่ "5 อรหันต์ กกต." แรงชัดในระยะประชิดตัว คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ชุดปัจจุบันทั้งคณะ เป็นการทิ้งท้ายปลายสัปดาห์ที่เรียกความหวั่นไหวที่ปกคลุมไปยัง "องค์กรอิสระ" ตามรัฐธรรมนูญที่เหลือ ว่าคิวต่อไปตนเองจะถูกเซตซีโร่ด้วยหรือไม่ ?
หลังจากที่มีกระแสสะพัดมาพักใหญ่ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต้องการรื้อไปจนถึงขั้นโละองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีอยู่หลายองค์กรโดยเฉพาะองค์กรที่สำคัญ มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการบริหาร "อำนาจ" ของคสช. เพื่อหวัง "กระชับอำนาจ" หลังจากโรดแมป คสช. สำเร็จลุล่วงลงที่การจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่
แต่ทว่าเมื่อใดที่เกิดกระแสข่าวในทางร้ายต่อองค์กรอิสระ ก็มักจะมี "แรงต้าน"จากฝ่ายการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนในองค์กรอิสระนั้นๆ เองเรื่อยมา หนักบ้าง เบาบาง แล้วแต่สถานการณ์จะเอื้ออำนวยหรือเปิดช่องให้
แต่ครั้งนี้ มีความชัดเจนจนเกิดเป็น"แรงสะเทือน" ตามมาอย่างเห็นได้ชัดเมื่อ "พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์" โฆษกคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ออกมาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติให้แก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรา 70 กำหนดให้คณะกรรมการ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นวาระเมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวประกาศใช้ แต่ยังให้ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะได้ กกต.ชุดใหม่แทน โดยคาดว่าจะมี กกต.ชุดใหม่ภายใน 60 วัน หลังกฎหมายบังคับใช้
โดยในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ต้องจับตาดูว่าการประชุม สนช.จะมีการลงมติวาระ 3 ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ตามมติดังกล่าวนี้ตามธงหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่า 5 เสือ กกต.ต่างอยู่ในสภาวะที่ "ทำใจ" กันถ้วนหน้าว่าอาจจะต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน
ทั้งนี้ ยังน่าสนใจว่า มีการส่งสัญญาณ เตรียมเซตซีโร่ องค์กรอิสระลำดับต่อไป อย่าง "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" หรือ กสม. ขณะที่ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" นั้น "มีชัย ฤชุพันธุ์"ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) บอกเลยว่า "ไม่มีปัญหาอะไร"
"บางองค์กรอาจเซตซีโร่ บางองค์กรอาจไม่เซตซีโร่ ขึ้นอยู่กับเหตุผล เช่นผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้มีปัญหาอะไรอำนาจหน้าที่เหมือนเดิม ก็อาจจะไม่มีเหตุหรือ กสม. อาจจะมีเหตุเพราะที่มามีปัญหาอยู่ ก็อาจต้องดูว่าต้อง ทำอย่างไร"มีชัย ให้เหตุผลกับผู้สื่อข่าว เพื่อตอกย้ำว่า กรธ.พิจารณาเรื่อง "คุณสมบัติ" เป็นสำคัญ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการเซตซีโร่องค์กรอิสระนั้น ดูจะเป็นการยากที่ คสช.จะบอกว่างานนี้ไม่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายที่ทำหน้าที่เขียนกฎกติกา ทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ตาม เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกต เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่แสดงความวิตกกังวลว่า คสช. จะเข้ามา "ควบคุม"และ "ยึด" องค์กรอิสระ เพื่อเตรียมวางฐานอำนาจของ คสช.เองรองรับสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง แม้จะมี "รัฐบาลใหม่" ที่จะมาจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม
การกระชับอำนาจผ่านองค์กรอิสระ โดยผ่านกลไกของกติกาใหม่ แน่นอนว่า คสช. จะไม่ใช่ฝ่ายที่จะเป็นผู้ตอบคำถาม หากแต่จะเป็นหน้าที่ของแม่น้ำแต่ละสายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเมื่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ กกต. เกิดขึ้นเป็นองค์กรแรก นั่นหมายความว่าองค์กรอื่นๆ จะต้องรอลุ้นระทึกกันในลำดับต่อไปและเมื่อ กกต.ถูกเซตซีโร จากนั้นการเฟ้นหา "กกต.ชุดใหม่" ที่มีคุณสมบัติสอด คล้องกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.จะดำเนินไปในท่ามกลางความเคลือบแคลงว่า กกต.ชุดใหม่ จะเป็นคนที่ คสช.สั่งได้หรือไม่ก็ตาม แต่ที่สุดแล้ว กกต.ชุดใหม่จะต้องเข้ามาประเดิม "งานใหญ่"คือการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ถูกกำหนดเอาไว้ในราวเดือน ต.ค. 2561
ดังนั้นคงไม่ต้องแปลกใจ หากจะพบว่าอีกไม่นาน ความหวั่นไหวของ "ฝ่ายการเมือง" จะผุดขึ้นอีกหลายเท่าทวีคูณ !