ความก้าวหน้าของประเทศชาตินั้น เปรียบเทียบกับความแข็งแรงของร่างกายได้ว่า ต้องดีทั้ง “หนึ่งสมองและสองขา” “สมอง” ก็คือแนวความคิด ภูมปัญญาทุกด้าน สรุปรวมได้ด้วยคำว่า “วัฒนธรรม”“สองขา” นั้น ขาหนึ่งคือระบบเศรษฐกิจ ที่จัดสรรแบ่งปันความมั่งคั่งจากทรัพยากรทุกด้านให้กับพลเมือง อีกขาหนึ่งคือระบบปกครองสังคม ที่รักษารักษาสังคม รักษาผลประโยชน์และความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของพลเมือง การบริหารประเทศจะต้องใช้สมองนำ แต่สำหรับประเทศไทยนี่น่าสังเวช เพราะใช้แต่ “ขา” นำรัฐบาลและทุกหน่วยงานของรัฐไม่เห็นความสำคัญของ “งานวัฒนธรรม” แม้แต่ยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศ20 ปี ที่กำหนดกันออกมาแล้ว ก็มิได้เน้นงานด้านวัฒนธรรม ความเข้าผิดนี้ต้องแก้ไขการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ริเริ่มสัมมนาทางวิชการเกี่ยวกับ “มหาวิทยาลัยกับการบริหารจัดการงานด้านศิลปวัฒนธรรม” ระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายนศกนี้ จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของงานด้านวัฒนธรรม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายด้วยทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลมาจากสิ่งที่ดีงามที่มีอยู่ในสังคม ซึ่งเกิดจากการสั่งสมต่อยอดและพัฒนาร่วมกันของคนในท้องถิ่น จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศาสนา วิถีชีวิต และ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มรดกทางวัฒนธรรมของไทยเหล่านี้ นอกจากจะเป็นอัตลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยแล้ว ยังแสดงถึงอัตลักษณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากที่ตั้งของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ทั้งภาษา ศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่างกันแต่สามารถผสมผสานวัฒนธรรมกันได้อย่างดีจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมไทยในปัจจุบัน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นจุดเด่นและเป็นโอกาสที่ไทยจะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วยการนำยุทธศาสตร์และวิธีในการบริหารจัดการทางวัฒนธรรมมาใช้ อย่างเหมาะสมและสอดคล้องต่อลักษณะสภาพสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ด้วยความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมของไทยที่แตกต่างกัน การบริหารจัดการทางด้านวัฒนธรรมจึงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องมีนโยบายการจัดการด้านวัฒนธรรมมาเป็นแนวทางใน การดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมวัฒนธรรมอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน ประสานสอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างของแต่ละวัฒนธรรม จนเกิดการยอมรับและเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันในสังคม ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของสังคมไทยให้คงอยู่ตลอดไป มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญหลายประการ ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทหลักในด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัยและพัฒนา และการบริการทางวิชาการแก่สังคมแล้ว ยังมีบทบาทหน้าที่ ๆ สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยมีนโยบายและการดําเนินงานทั้งในระดับบุคคลและสถาบัน มีระบบกลไกเป็นหน่วยส่งเสริม สนับสนุนในลักษณะโครงการและส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนการสอน เพื่อสนับสนุนการให้ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมแก่ อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และชุมชนท้องถิ่น