สมบัติ ภู่กาญจน์ ปีพุทธศักราช 2515 กำลังเป็น ‘ยุคต้นของมลพิษ’ สารพัดอย่าง ที่เริ่มจะแทรกซึมเข้าสู่วงการพุทธศาสนาในสังคมไทย ที่เกือบทุกอย่าง ดูเหมือนว่า จะยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆมาจนถึงยุคปัจุบัน ในคอลัมน์นี้เมื่อตอนที่แล้ว ผมได้นำข้อเขียนของ อาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ได้อ้างถึงเทศนาของท่านปัญญานันทะภิกขุ ซึ่งได้กล่าวถึง ‘สำนักผี’ กำลังตีคู่ขึ้นมาแข่งกับ ‘สำนักพระ’ มาวิพากษ์วิจารณ์ต่อ ผ่านไปชิ้นหนึ่งแล้ว ซึ่งในบทวิพากษ์ดังกล่าว อาจารย์คึกฤทธิ์ได้มองไกลไปถึง ‘วัดบางวัด’ที่เริ่มจะแสวงหาความร่ำรวยด้วยเงินทองและวัตถุ ว่าพฤติกรรมเช่นนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่ชาวพุทธควรจะให้ความสนใจและช่วยกันคิดพิจารณาเอาไว้ด้วย ว่าเป็นสิ่งที่ใคร?ควรจะทำหรือไม่ทำ?สิ่งใดแค่ไหน?และเพียงใด? พอถึงวันรุ่งขึ้น ความเห็นของอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะยังมีข้อเขียนอีกหนึ่งชิ้น ดังต่อไปนี้ที่ตามมา เมื่อวานนี้ ผมได้เขียนไปแล้ว เรื่องพระกับศรัทธาของคน ถึงวันนี้ก็ยังมีเรื่องมากระทบใจ จนทำให้ต้องเขียนเรื่องพระ และพุทธศาสนาต่อไปอีก สืบเนื่องมาจาก มีข่าวการฆ่าคนตายเกิดขึ้นในวัดแห่งหนึ่ง ณ อำเภอปากช่อง ซึ่งหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ได้ติดตามไปทำข่าว และได้สัมภาษณ์เจ้าคุณ..(ผมขออนุญาตไม่ลงชื่อ)เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เกี่ยวกับเรื่องนี้หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม ได้นำคำสัมภาษณ์ของท่านเจ้าคุณ...ลงพิมพ์ไว้ดังนี้ “ พร้อมกันนั้น พระ.....(ชื่อของท่านเจ้าคณะจังหวัดท่านนั้น)ได้เปิดเผยถึง ระเบียบการขอตั้งสำนักสงฆ์และการสร้างวัด ต่อผู้สื่อข่าวของเราว่า ตามระเบียบการจัดตั้งสำนักสงฆ์เพื่อสร้างวัดนั้น จะต้องมีชาวบ้านผู้ศรัทธายื่นความจำนงขอบริจาคที่ดินที่จะสร้างวัดไม่ต่ำกว่า๖ราย จากนั้นเจ้าของที่ดินก็จะต้องแจ้งความประสงค์ว่า จะสร้างสิ่งต่างๆอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร และจะต้องสร้างให้เสร็จภายใน๕ปี ระหว่างที่ยังไม่ครบ 5 ปีนั้น จะต้องเรียกว่าเป็นสำนักสงฆ์ หลังจากนั้น ถ้าสร้างเสร็จ ก็จะต้องมีการขึ้นทะเบียนวัด ขอตั้งชื่อวัด ชื่อสมภาร และต้องมีนายอำเภอมาปักเขต ซึ่งพระ..(ที่ตกเป็นข่าว)ก็มาทำตามระเบียบครบถ้วน ซึ่งขณะนี้วัดที่เป็นข่าวจึงเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สำหรับในกรณีที่เจ้าอาวาสต้องคดีและถูกสึกเป็นฆราวาส ทรัพย์สินที่เป็นวัสดุและเครื่องตกแต่งหรือเงินทองนั้น เป็นสมบัติส่วนตัวของผู้จัดหา ส่วนครุภัณฑ์ที่ปลูกสร้างไว้ จะต้องตกเป็นศาสนสมบัติ ซึ่งในกรณีวัด..(ที่ตกเป็นข่าว)นี้ ได้สั่งให้เจ้าคณะตำบล....ไปคอยควบคุมดูแลแล้ว เกี่ยวกับประวัติของพระ..(ผู้เป็นข่าว)นั้น เจ้าคณะจังหวัดเปิดเผยว่า เดิมเป็นคนจังหวัด(อีกจังหวัดหนึ่ง) บวชแล้วมาจำพรรษาอยู่ที่วัด(อีกแห่งหนึ่ง) ต่อมาจึงได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดอีกหลายวัดแถวปากช่อง ซึ่งในระหว่างนั้นเวลานับได้เป็นสิบปี พระ..(ที่ตกเป็นข่าว)ได้พยายามปลุกเศกเครื่องรางของขลัง...ออกขายชาวบ้าน....มีผู้นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ....จนมีชื่อเสียงโด่งดัง...ผู้หลักผู้ใหญ่ศรัทธาเข้าไปหากันมาก และมีคนเชื่อถือไปทอดผ้าป่าทุกปี..การห้ามปรามอะไรจึงทำได้ยาก สำหรับพฤติการณ์อันไม่ชอบด้วยพุทธบัญญัติของพระ..(ที่เป็นข่าว)นี้ เจ้าคณะจังหวัดกล่าวว่าได้รวบรวมมานานแล้ว ซึ่งรวมทั้งการข้องแวะกับผู้หญิงด้วย.........ฯลฯ ส่วนในกรณีที่พระ..(ที่เป็นข่าว)ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการบงการฆ่านั้น เจ้าคณะจังหวัดบอกว่าเป็นเรื่องของตำรวจที่จะต้องดำเนินคดี และถ้าถูกจับเมื่อไรก็พร้อมที่จะสึกให้......” ผมขออนุญาต เว้นวรรคแทรกข้อสังเกตุเป็นเบื้องแรกว่า ในงานเขียนคอลัมน์ของอาจารย์คึกฤทธิ์ อาจารย์ใช้วิธีอ้างถึงจากข่าวที่คนกำลังให้ความสนใจและปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน ซึ่งในสาระของข่าวที่นำเสนอมีเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับเรื่องของการสร้างวัด เรื่องความต่างของชื่อว่าวัดหรือสำนักสงฆ์ เรื่องของการจัดการทรัพย์สินของวัดในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น ว่ากฎหมายกำหนดให้เป็นของใครอย่างไร ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนในสังคมไทยพึงรู้ ....... ซึ่งทุกวันนี้ ความรู้เหล่านี้ จะยังคงเป็นอยู่เหมือนเดิมหรือมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรแค่ไหนแล้วหรือไม่นั้น คนที่รู้ก็มักจะไม่พูด ขณะที่คนที่พูดหลายคนก็ไม่มีความรู้มากนัก! พุทธศาสนาในสังคมทุกวันนี้ จึงขาดความรู้หรือสิ่งที่ควรรู้ มากกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่ความเชื่อ อย่างรู้บ้างไม่รู้บ้าง มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น......... สภาพเหล่านี้คือมลพิษอีกอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพุทธศาสนา ใช่หรือไม่ ผมขอฝากเป็นข้อสังเกตุ ไว้ ก่อนที่จะอ่านความคิดของอาจารย์คึกฤทธิ์กันต่อไปครับ สาธุชนที่ได้อ่านคำให้สัมภาษณ์นี้แล้ว จะต้องเกิดความเศร้าใจ และเกิดความเป็นห่วงใยในพระพุทธศาสนา เราได้ทราบจากคำให้สัมภาษณ์นี้ว่า ตามระเบียบปัจจุบันนี้ พระภิกษุรูปใดก็ตาม จะมีปฏิปทาอย่างไรก็ตาม จะไว้ใจได้หรือไม่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าไปหาคนที่อุทิศที่ดินให้สร้างวัด พร้อมกับเสนาสนะต่างๆที่อ้างไว้ตามระเบียบ และไปตามตัวนายอำเภอมาวัดเขตที่ดินได้แล้ว พระภิกษุรูปนั้นก็จะสร้างวัดขึ้นได้ และจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมภาร ซึ่งก็หมายความว่า พระองค์ไหนอยากเป็นสมภารก็ต้องวิ่งเข้าหาชาวบ้าน และทำอย่างไรให้ชาวบ้านเลื่อมใสได้แล้ว ก็จะได้เป็นสมภารมีวัดครอบครองทุกองค์ไป ไม่ว่าพระภิกษุองค์นั้นจะมีศีลมีวินัยหรือมีปฏิปทาเป็นที่น่าสงสัยอย่างไรก็ตามที วัดที่มีสมภารแบบนี้ จะมีมากน้อยอย่างไรก็ไม่ทราบในเมืองไทยทุกวันนี้ แต่คาดว่าคงจะมีมาก และถ้าสมภารแบบนี้มีมากๆในเมืองไทยแล้ว พระศาสนาจะเสื่อมโทรมไปอย่างไรในเมืองไทย ก็เห็นจะไม่จำเป็นต้องบรรยาย....นั่นเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ประการที่หนึ่ง ซึ่งยังมีต่อไปอีกสามประการ ที่อาจารย์คึกฤทธิ์พยายามจะเรียกความสนใจของผู้คนไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2515 ซึ่งนับจากวันนั้นมาถึงวันนี้ เวลาล่วงเลยมาแล้ว 40 ปี มีใครที่จะให้ความสนใจหรือไม่ ว่ามลพิษทั้งหลายเหล่านี้ได้แผ่เข้าปกคลุมในพุทธศาสนามากขึ้นกว่าเดิมอีกแค่ไหนหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่น่าพิจารณา เรามีแต่ข้อเท็จจริง ที่ค่อนข้างจะเป็นภาพลบในทางศาสนาสารพัดอย่าง ที่ผมเองไม่อยากกล่าวย้ำให้เพิ่มอคติขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เรามีสำนักงานทางราชการเพิ่มขึ้น อันมีทั้งกรมศาสนาและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่เรากลับมี‘ความรู้’(ในสิ่งที่ถูกที่ควรอันสมคำว่า‘วิชชา’ทางศาสนาพุทธ) น้อยกว่า‘ความเชื่อ’ในสิ่งที่แตกต่าง(ซึ่งบางอย่างห่างไกลจากหลักพุทธ) ที่นับวันแต่จะเพิ่มมากขึ้น ทุกวันๆ เราจะทำอย่างไรกันดีครับ? พุทธศาสนาสอนว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน - ขณะที่ยังหวังอะไรไม่ได้ ผมจึงได้แต่พยายาม ที่จะ ‘พิจารณา’พุทธ ต่อไป ถ้าสนใจก็ขอเชิญติดตามกันต่อไปครับ