ดร.วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้เปิดตัวเพื่อร่วมสร้างสมรรถนะของมาตรฐานอาชีพในระดับประเทศ โดยมีเป้าหมายให้นักศึกษาอาชีวะศึกษาและมหาวิทยาลัยออกไปตรงความต้องการของสถานประกอบการ ด้วยทักษะฐานสมรรถนะ เช่นเดียวกับหลายประเทศในการพัฒนาศักยภาพของคนไปพัฒนาประเทศ
ความจริงอาชีพสาขาต่างๆในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการมีหลายร้อยสาขาอาชีพซึ่งมีระดับสมรรถนะที่ต่างกันของงานที่ทำอยู่ กระทรวงแรงงานรับผิดชอบการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาฝีมือของแรงงานทั้งประเทศเพียงแต่มี 3 ระดับในแต่ละสายงานของอาชีพให้มีฝีมือระดับ ต้น กลาง และสูง โดยมีเชื่อมโยงกับค่าจ้างแรงงานที่มากกว่าแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งน่าจะเหมาะสมระหว่างแรงงานไร้ฝีมือกับแรงงานมีฝีมือระดับต่างๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจใมห้แก่ผู้ถูกประเมินว่ามีฝีมือสูงขึ้น ย่อมได้รับผลตอบแทนมากกว่า
มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ แบ่งเป็น 7 ระดับ แต่ละรดับมีสมรรถนะต่างกันตามงานที่ปฏิบัติ น่าจะเป็นปัหาเช่นเดียวกับมาตรฐานฝีมือแรงงานในระยะเริ่มแรกที่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานเพราะไม่มีสิ่งตอบแทนทั้งเงินเดือน ค่าจ้าง หรือได้รับการส่งเสริมจากผู้ประกอบการให้มีตำแหน่งหรืองานที่สูงกว่าเดิม จึงขาดแรงกระตุ้นที่จะพัฒนาฝีมือแรงงาน ยิ่งองค์กรด้านแรงงานเรียกร้องค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้มาตรฐานฝีมือแรงงานไร้ความหมายยิ่งขึ้น นั่นคือปรากฏการณ์ที่ผ่านมาในอดีตของการพัฒนาฝีมือหรือสมรรถนะแรงงานของประเทศ
มาตรฐานคุณฒิวิชาชีพเช่นกัน น่าจะประสบปัญหาที่เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ใช้แรงงานและสถานประกอบการยอมรับได้อย่างไร เขาจะได้ประโยชน์อะไร คงต้องเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้ชัดเจน แต่เห็นยุทธศาสตร์จะเริ่มจากระดับอาชีวะศึกษาและมหาวิทยาลัย น่าจะเป็นบทพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า นักศึกษาทั้งอาชีวะศึกษา และ อุดมศึกษา จะมีสมรรถนะที่โดดเด่นเป็นไปตามความต้องการของภาคประกอบการเพียงใด จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าจับตามอง เพียงแต่การนำสมรรถนะไปใช้ในสถานศึกษานั้นจะไปสอดคล้องกับหลักสูตรและมาตรฐานหลักสูตรของ สกอ. เพียงใด ในชั้นนี้คงได้เพียงให้นักศึกษาได้ทดสอบเพิ่มเติมจากระบบการวัดผลและประเมินผลที่เป็นมาตรฐานของแต่ละสถาบันอยู่แล้ว
ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จให้นักศึกษาเข้าสู่ระบบการทดลองนั้น อาจต้องมีงบประมาณสนับสนุนจาก สคช. เอง เป็นค่าวัสดุและค่าใช้จ่ายในการทดสอบ หากจะหวังให้สถาบันเขาลงทุนเองน่าจะได้ผลในทางปฏิบัติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพราะสถาบันการศึกษาเขาได้รับงปบระมาณจำกัดอยู่แล้ว
ประเด็นที่สำคัญคือมาตรฐานมีหลายมาตรฐาน ทำอย่างไรให้สามารถบูรณาการทั้งการปฏิบัติและการประเมินคุณภาพ มิให้สถาบันการศึกษาซึ่งมีภาระงานมากอยู่แล้วสับสนกับมาตรฐานที่หลากหลาย กระทรวงศึกษาธิการควรกำหนดเป็นนโยบายและกำหนดระหว่างมาตรฐานของ สกอ. หรือ สอศ. จะบูรณาการกันอย่างไรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการสร้างคนเข้าสู่ประเทศไทย 4.0