ข่าวใหญ่ของเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ไปตกอยู่ที่ความเคลื่อนไหวของ "กลุ่มสี่กุมาร" ที่เปิดแถลงข่าวลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ทำเอาบรรยากาศทางการเมืองกลับมาระอุ อย่างที่เห็น เพราะการประกาศท่าทีของ "กลุ่มสี่กุมาร" ครั้งนี้ ย่อมไม่ใช่ฉากจบของปัญหาทางการเมือง หากแต่อาจกลายเป็น "แรงกดดัน" ที่พุ่งไปยัง "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ "กัปตันเรือเหล็ก" แทน
กลุ่มสี่กุมารอันประกอบด้วย "อุตตม สาวนายน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตเลขาธิการพรรค , "สุวิทย์ เมษินทรีย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรค และ "กอบศักดิ์ ภูตระกูล" รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตกรรมการบริหารพรรค ให้เหตุผลว่าวันนี้ภารกิจการทำพรรคพลังประชารัฐได้ลุล่วงแล้ว อีกทั้งพรรคได้มีคณะบริหารชุดใหม่จึงขอยุติบทบาททางการเมือง คงเหลือไว้แต่บทบาทในฝ่ายบริหารคือตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องของการปรับครม. จะเป็นอย่างไรนั้นขอให้อยู่ที่อำนาจการตัดสินใจของ นายกรัฐมนตรี
"การเปลี่ยนแปลงในอนาคต เป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ ทุกคนเข้าใจกันดี พวกตนจะทำหน้าที่ที่เรามีอย่างเต็มที่ หากจะมีการปรับเปลี่ยนใดๆ ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เป็นเรื่องของอำนาจนายกฯ" อุตตม ตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีที่ว่าจะตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยหรือไม่
แน่นอนว่าการประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคของกลุ่มสี่กุมาร ครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการจงใจหรือไม่ก็ตาม แต่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกิดขึ้นทั้งต่อพรรคพลังประชารัฐ และต่อครม. อย่างชัดเจน
เพราะนี่คือตอกย้ำถึงปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ลุกลามบานปลาย จนถึงขั้น "อยู่ร่วมกันไม่ได้" ระหว่างกลุ่มสี่กุมาร กับขั้วการเมืองที่ออกตัว หนุน "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ขึ้นไปนั่งในเก้าอี้ "หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ"
จากนี้ไป การอยู่ร่วมกันระหว่าง กลุ่มสี่กุมาร ในครม. กับรัฐมนตรีที่สังกัดกลุ่มตรงกันข้าม จึงจะดำเนินไปด้วยความอึดอัดโดยไม่ต้องคาดเดา
ทั้งนี้มีรายงานว่า การตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ของกลุ่มสี่กุมาร นั้นถูกจับตามาตลอดว่าจะใช้ช่วงเวลาใด และจะมีอิทธิฤทธิ์ อย่างใดอย่างหนึ่งมาสำแดงหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์สภาฯล่ม เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมานั้นคือแสดงให้เห็นว่าคนที่ดูแลงานในสภาฯ นั้นมีบารมีมากพอที่จะ "คุมส.ส." ได้จริงหรือไม่ เพราะถ้าบริหารได้จริง คงไม่มีเหตุการณ์ท้าทาย อำนาจของพล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนใหม่ อย่างที่เห็น
อย่างไรก็ดี จากนี้ไปการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับ กลุ่มสี่กุมารจะตกเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะปรับครม.ช้าหรือเร็ว จะทนอยู่กันต่อไปเช่นนี้ หรือเลือก "เปลี่ยนม้ากลางศึก" ในจังหวะที่มิติทางด้านเศรษฐกิจจะต้องมีบาทและความสำคัญ เพื่อการฟื้นฟูหลังสถานการณ์ที่ถูกไวรัสโควิด โจมตีจนสาหัส !