ทวี สุรฤทธิกุล
ร.6 ทรงห่วงประชาธิปไตยแบบไทยๆ
เล่ากันว่า(และมีการอ้างอิงทางวิชาการไว้ด้วย)ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนักก่อนจะสวรรคตไม่กี่วัน พระองค์ได้ตรัสกับพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ที่มาเข้าเฝ้าฯ เหมือนจะมีพระราชปรารภด้วยความห่วงใยว่า “เราจะให้ลูกวชิราวุธให้คอนสติติวชั่นแก่คนไทย”
“คอนสติติวชั่น” นี้ก็คือรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายหลักในการวางโครงสร้างการเมืองการปกครองเสียใหม่ ในแนวที่ทรงมีพระราชดำริไว้คือการปกครองโดยรัฐสภาและพระมหากษัตริย์จะมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ อย่างที่ผู้เขียนเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และ “ลูกวชิราวุธ” ก็คือรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสและองค์รัชทายาท
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษตั้งแต่พระชนม์ได้ 12 พรรษา ทรงสำเร็จวิชาทหารที่วิทยาลัยแซนเฮิร์ส และวิชาประวัติศาสตร์กับวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระหว่างนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร สวรรคต พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสยามมกุฏราชกุมารสืบแทน แล้วเสด็จกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2445 เพื่อทรงมาช่วยราชการในพระราชบิดา แล้วขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2453 ภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 เมื่อมีพระชนม์ 29 พรรษา แต่ครองราชย์ได้เพียง 15 ปีก็สวรรคตด้วยพระชนม์ 45 พรรษา แต่ก็ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ทรงสนพระราชหฤทัยในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของบ้านเมืองอยู่พอสมควร สิ่งหนึ่งก็คือทรงพัฒนาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานสืบต่อจากพระราชบิดา ให้ประชาชนมีการศึกษาภาคบังคับอย่างน้อยถึงระดับชั้นประถมศึกษา ที่เรียกว่า “การศึกษาประชาบาล” ให้เป็นระบบและมีมาตรฐานไปทั่วประเทศ และอีกสิ่งหนึ่งก็คือทรงเตรียมชนชั้นนำให้มีความคุ้นเคยและพร้อมที่จะบริหารราชการแผ่นดินในรูปแบบของตะวันตก เริ่มจากทรงสนพระทัยในการจัดการการบริหารท้องถิ่นด้วยระบบเทศบาล และการจัดการการบริหารที่ส่วนกลางด้วยระบบรัฐสภา ดังที่ทรงมีพระราโชบายและทรงร่วมกิจกรรมด้วยใน “เมืองมัง” และ “เมืองดุสิตธานี” โดยที่เมืองมังได้สมมุติให้เป็นการปกครองระดับท้องถิ่น ส่วนเมืองดุสิตธานีได้จัดให้เป็นการปกครองในระดับเมืองหลวงหรือส่วนกลาง
มีนักวิชาการบางกลุ่มวิจารณ์ว่า รัชกาลที่ ๖ ไม่ได้ทรงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบ้านเมืองไปในแนวตะวันตกอย่างแท้จริง เพียงแต่ใช้เป็นสิ่ง “สำราญพระราชหฤทัย” ถึงกับใช้คำว่า “ของเล่น” ของพระองค์ท่าน หรือมองว่าเป็น “เมืองตุ๊กตา” ไปนั่นเลย แต่ในทัศนะของผู้เขียนที่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาอบรมในหลายๆ หลักสูตร ของหลายๆ สถาบัน ทั้งในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่ผู้เขียนทำงานอยู่ หรือในสถาบันการศึกษาอบรมชั้นสูง เช่น สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน ทุกแห่งล้วนแต่มีกิจกรรมในการศึกษาอบรมที่ให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมได้ “ลงมือปฏิบัติ” จากการลงมือทำจริงๆ เป็นกิจกรรมเรียนรู้หลัก ที่เรียกว่า Activities Base Study/Training เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมได้ “คิด” และเกิด “ประสบการณ์” ของการเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่ได้มุ่งแต่เรียนทฤษฎีหรือเนื้อหาทางวิชาการเป็นหลัก ซึ่งทำให้การศึกษาอบรมมีประสิทธิภาพและได้ผลดีมาก เพราะผู้เข้ารับการศึกษาอบรมจะได้พบกับสถานการณ์จริงๆ และต้องเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง สร้างปัญญาความรู้ให้เหนือกว่าระดับแค่รู้แค่เข้าใจ แต่เป็นการสอนให้เกิดความเชี่ยวชาญ อย่างที่เรียกว่า “ทักษะ” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในระดับสูง (จะเห็นว่าผู้เขียนไม่ใช้คำว่า “ผู้เรียน” เพราะนั่นคือการศึกษาในรูปแบบที่น่าเบื่อหน่าย คือคอยแต่ “นั่งฟัง-นั่งจด” ฟังการบรรยายและจดไปอ่านท่องจำสอบเอาคะแนนแบบที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคย ที่เรียกว่า Lecture Base Study/Training อันเป็นการเรียนรู้ในระดับพื้นฐาน)
ผู้เขียนขอยกกรณีของเมืองดุสิตธานีที่รัชกาลที่ ๖ ทรงให้พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และข้าราชบริพาร มาร่วมในกิจกรรม ก็ไม่ได้มีแต่การสร้างเมืองตุ๊กตาขึ้นมาเป็นบ้านเรือนเพื่อการชื่นชมหรือ “ดูเล่น” เท่านั้น แต่ได้ทรงแบ่งบทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคลที่มาร่วมกิจกรรมนี้ให้ช่วยกันทำหน้าที่ต่างๆ มีทั้ง “เชษฐบุรุษ” ที่เป็นเหมือนผู้แทนในชุมชน หรือที่เรียกกันในสมัยนี้ผู้แทนราษฎรนั่นเอง ทำหน้าที่ในการวางนโยบายเพื่อการบริหารเมือง มีการแบ่งเชษฐบุรุษนี้เป็น 2 พวก คือพวก โบว์แดง” กับพวก “โบว์น้ำเงิน” เหมือนเป็นพรรคการเมือง ๒ พรรคที่คอยถ่วงดุลกันและกัน ที่รวมถึงการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาบริหารเมืองดุสิตธานีนั้นด้วย ทั้งนี้ได้ทรงให้บุคคลเหล่านี้ “ช่วยกันคิด” ในการที่จะวางระเบียบและกฎกติกาต่างๆ เพื่อจัดการการประชุม การบริหารจัดการ และแม้แต่กระทั่งการมอบหมายสั่งการ ที่ผู้บริหารของเมืองดุสิตธานีนี้สามารถสั่งการแก่พระมหากษัตริย์ก็ได้ เพราะในเมืองดุสิตานีนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีฐานะแค่เป็น “ทวยนาคร” หรือราษฎรสามัญคนหนึ่งเท่านั้นเอง
นักวิชาการบางท่านบอกว่าถ้ารัชกาลที่ 6 ทรงอยู่ในราชสมบัติยาวนานกว่านั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของการเมืองการปกครองที่น่าสนใจบางอย่างเกิดขึ้นก็ได้ เพราะในส่วนของประชาชนก็น่าจะมีการเรียนรู้ถึง “ความศิวิไลซ์” ที่ทุกคนจะได้มองเห็นภาพอนาคตอันสวยงามรุ่งเรืองของประเทศไทยไปพร้อมกัน ภายใต้ระบบการศึกษาประชาบาลที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ และการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่ทรงริเริ่มไว้ในจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วทุกภูมิภาค รวมถึง “จุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย” สำหรับการเรียนรู้ในระดับสูงของชนชั้นนำในประเทศ หรือในส่วนที่ได้ทรงริเริ่มพัฒนา “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” ไว้ที่เมืองดุสิตธานีดังที่กล่าวมานี้
บางทีเราอาจจะได้มีรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ครั้งนั้น