รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ทุกคนเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้วว่า “การปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่” จำเป็นสำหรับการก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย กระทำเช่นนี้ทุกๆปีจนเป็นเรื่องปกติ...แต่ปีนี้ไม่ปกติเพราะโควิด -19
วัตถุประสงค์ซึ่งเป็นหลักการของการปฐมนิเทศ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่านักศึกษาใหม่จำเป็นต้องรู้จักกายภาพของมหาวิทยาลัยทั้งอาคารสถานที่ ภูมิทัศน์สภาพแวดล้อม จะได้ใช้ชีวิตอย่างน้อยประมาณ 4 ปีเต็มๆ อย่างสะดวกสบายและมีความสุข รวมทั้งได้รับรู้เรื่องราวของมหาวิทยาลัย คณะที่จะเข้าศึกษา เรียนรู้และเข้าใจความสำคัญ เล็งเห็นคุณค่าเกิดความภาคภูมิใจในตัวตนที่จะเป็น “นักศึกษาที่สมบูรณ์แบบ”
การส่งต่อ “นักศึกษา” สู่ “บัณฑิต” ที่ตลาดแรงงานอ้าแขนรับ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่มหวิทยาลัยพึงรับผิดชอบในส่วนนี้ ในภาวะสังคมที่เต็มไปด้วยสภาพ “ตกงาน”
“ปฐมนิเทศออนไลน์” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ถูกนำเสนอมาให้พิจารณา
แม้ว่าหลายๆ มหาวิทยาลัยอาจจะเคยใช้ปฐมนิเทศในรูปแบบออนไลน์มาแล้วก็ตาม แต่การใช้ในครั้งที่ผ่านๆมา อาจใช้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง โดยไม่มี ตัวแปรแทรกซ้อนอย่างโควิด – 19 มาเป็นตัวบังคับเฉกเช่นปัจจุบัน จึงดูเหมือนว่ายากที่จะใช้รูปแบบออนไลน์เดิมๆได้ทั้งหมด
ส่วนสำคัญอย่างยิ่งคงไม่พ้นผู้เข้ารับการปฐมนิเทศซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่ผู้จัดการปฐมนิเทศต้องรับรู้ข้อมูลความต้องการของนักศึกษา เพื่อให้การปฐมนิเทศดังกล่าวบรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการได้อย่างตรงจุด
ผู้เขียนจึงขอนำเสนอให้ท่านผุ้อ่านมองผ่านข้อมูลที่ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจนักศึกษาแบบออนไลน์ 605 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 พบประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
- นักศึกษาอยากให้จัดปฐมนิเทศในรูปแบบ “ออนไลน์” ถึง 33.22 %
- นักศึกษาอยากให้มีการทำเป็นคลิปสั้นๆ เผยแพร่ทาง “ออนไลน์” ที่สามารถดูได้ตลอดเวลามากถึง 31.08 %
- นักศึกษาต้องการเอกสารประกอบการปฐมนิเทศรูปแบบ “e - Book” 36.53% (ซึ่งเป็นช่องทางออนไลน์รูปแบบหนึ่ง)
- ระยะเวลาที่นักศึกษาต้องการในการปฐมนิเทศ โดยจัดประมาณ 30 นาที 27.77% 1 ชั่วโมงก็พอ 22.15 % และผู้ที่ระบุว่า 45 นาทีอีก 14.55%
พูดง่ายๆจากข้อมูลนี้...(วัยรุ่นใจร้อน) ใช้เวลาสั้นๆ ก็พอ ไม่อยากให้จัดยืดเยื้อเป็นวันๆ
มองข้อมูลข้างต้นแล้ว...ย่อมสร้างความหนักใจให้กับ “ผู้จัดการปฐมนิเทศ” อย่างแน่นอน เพราะความตั้งใจที่อยากจะให้นักศึกษาได้รับรู้ในเรื่อราวต่างๆเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมีมากเหลือเกิน โดยลืมไปว่าเขาเหล่านั้นได้เรียนรู้จากช่องทางต่างๆ ก่อนตัดสินใจที่จะสมัครเข้าเรียนอยู่แล้ว รวมทั้งรูปแบบ การปฐมนิเทศเดิม ๆ ที่คุ้นเคย การบรรยาย การให้โอวาท นำชมสถานที่แบบ “Open ทุกๆอย่าง”
ยิ่งเห็นข้อมูลอะไร ๆ ก็ “ออนไลน์”
แน่นอน ! ทีมงานจัดปฐมนิเทศก็ต้องทำงานหนัก จะทำงานแบบเดิมๆ ใช้ทีมงานเดียวที่เคยทำก็คงยาก จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วน มิใช่แต่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น
นี่ยังไม่รวมถึงผู้ที่จะนำเสนอข้อมูลที่ถูกใจนักศึกษา คงไม่ใช่แค่ผู้บริหาร อาจารย์ บางประเด็นเขาต้องการศิษย์เก่าเป็นผู้นำเสนอถึง 52.56%
ส่วนด้านเนื้อหาที่มุ่งเน้นการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และประสบผลสำเร็จจนสามารถมองเห็นเส้นทางของการประกอบอาชีพ ซึ่งถูกนำเสนอทั้งเทคนิควิธีการแล้วยังไม่พอ...
คงต้องเติมเต็มอย่างน้อยก็การใช้ชีวิตอย่างไร ? ที่จะให้ปลอดภัยจากโควิด -19 และโรคอุบัติใหม่ๆ ที่จะต้องผจญอีกไม่รู้กี่โรค !?!
“การปฐมนิเทศออนไลน์” ของมหาวิทยาลัย ณ วันนี้ จึงเป็นปฐมบทของการพิสูจน์ความพร้อม ความทันสมัย ความใส่ใจ ที่หลากหลายมหาวิทยาลัยบอกกล่าวกับผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาว่าแต่ละมหาวิทยาลัยล้วนตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้อย่างสมบูรณ์แบบ
...นี่แค่บทพิสูจน์เริ่มต้นเท่านั้นนะครับ..ยังไม่รวมถึงการจัดการเรียนการสอนจริง ๆ เลย !