ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในวาระที่ 1 แล้วด้วยคะแนนเสียง 273 เสียง ไม่เห็นชอบ 200 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง เป็นสัญญาณบวกทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ในด้านการเมือง รัฐบาลเดินหน้าต่อโดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะที่คะแนนเสียงสนับสนุนรัฐบาล มีความเป็นเอกภาพ ไม่เกิดปัญหาการแตกแถว หรือประลองกำลัง แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีและยุบสภาออกมาก็ตาม ในด้านเศรษฐกิจ มีงบประมาณออกมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนภาครัฐ โดยโครงการต่างๆ แม้จะมีการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นก็ตาม นั่นจึงทำให้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ได้รับการจับตาเป็นพิเศษในการจัดสรรลงไปให้ตรงจุด กระจายและลดความเหลื่อมล้ำ เช่นเดียวกับการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ยิ่งในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเผชิญมรสุมหลายลูกที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีการปิดกิจการ และเลิกจ้าง แม้แต่องค์กรลูกของหน่วยงานราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเองก็ไม่รอดพ้น โดยเฉพาะต้องไม่มีปัญหาเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม เพจเฟซบุ๊กของ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นำผลวิจัยทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สก.สว. ในโครงการสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน เรื่อง ราชการไทยไร้คอร์รัปชัน: การสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการแจ้งเบาะแสการทุจริตŽ จัดทำโดย 1. ผศ.ดร. วิษณุพงษ์ โพธิพิรุฬห์ ม.สงขลานครินทร์ 2. ดร. อังศุธร ศรีสุทธิสอาด ม.หอการค้าไทย, มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษาเหตุและปัจจัยที่ทำให้ข้าราชการตัดสินใจว่าจะร้องเรียนหรือไม่ เมื่อพบเห็นคอร์รัปชันในหน่วยงานของตน ทั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ จากผลวิจัยพบว่า ข้าราชการส่วนกลาง ร้อยละ 36 เคยพบเห็นการทุจริตในหน่วยงานของตน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเอาทรัพย์สินราชการไปใช้ส่วนตัว (ร้อยละ 55.73) รองลงมาเป็นเรื่องการออกใบเสร็จเกินราคาจริง (ร้อยละ 10.79) การเรียกเงินใต้โต๊ะจากประชาชน (ร้อยละ 6.37) การทุจริตเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง (ร้อยละ 6.31) และการปลอมแปลงเอกสารทางราชการ (ร้อยละ 5.82) ขณะที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 21.6 เคยพบการทุจริตในหน่วยงานของตนเอง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเอาทรัพย์สินราชการไปใช้ส่วนตัว (ร้อยละ 41.67) รองลงมาเป็นเรื่องการเรียกรับเงินจากผู้รับเหมา (ร้อยละ 24.36) และการสมยอมราคาหรือการฮั้วประมูล (ร้อยละ 7.69) และการออกใบเสร็จเกินราคาจริง (6.41%) ทั้งนี้ เราเห็นว่าจากผลวิจัยดังกล่าว เป็นข้อมูลสำคัญที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหามาตรการในการเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตเกิดขึ้น เพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์วิกฤติของประเทศ และสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน กระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรุนแรงได้