แม้พรรครวมพลังประชาชาติไทย จะมีเพียงไม่กี่นั่งส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร
แม้ แกนนำของพรรคจะไม่ใช่ "บิ๊กเนม" ที่ทุกความเคลื่อนไหวจะอยู่จุดโฟกัส หรือเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เหมือนกับพรรคพลังประชารัฐ ที่เปิดศึกซัดกันให้ปั่นป่วน
แต่เมื่อ "ลุงกำนัน" สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ออกมา "ขยับ" ไม่กี่กระบวนท่า ปรากฎว่า กลายเป็น "เสียง" ที่ต้องมีคนรอเงี่ยหูฟัง !
ตลอดหลายวันที่ผ่านมา น่าสนใจว่า จังหวะการก้าวของสุเทพ ล้วนแล้วแต่สร้างน้ำหนักการต่อรองทางการเมืองให้ พรรคอย่างตรงไปตรงมา และชัดเจนอย่างที่สุด ว่า หากมีการปรับครม.เก้าอี้ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน" จะต้องเป็นโควต้าของพรรค ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
การส่งสัญญาณจากสุเทพ ในห้วงหลายวันที่ผ่านมา ทั้งในวันที่มีประชุมใหญ่ของพรรค จนมาถึงเมื่อวันที่ 7 ก.ค. เมื่อเจ้าตัวไปทำบุญวันเกิดครบรอบ 71ปีที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ปากเกร็ด นนทบุรี ก็พูดชัดเจนว่าเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต้องเป็นของ พรรค และมีรัฐมนตรีที่ชื่อ "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" เท่านั้น
"เมื่อนายกฯ เห็นว่า รปช.เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ไว้ใจให้ไปดูแลกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีประชาชนซึ่งเป็นลูกจ้าง เป็นผู้ใช้แรงงานจำนวนมากในประเทศไทย โดยเวลาไปทำงานเราช่วยกันทำงานทั้งพรรค ซึ่งนายอเนก ก็เป็นหัวหน้าคณะทำงานช่วยคิดนโยบาย คิดแผนงานให้กระทรวงแรงงานทำมาโดยตลอด ตอนนี้ก็เป็นประธานยกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งเราจะแก้ไขเพื่อให้ระบบประกันสังคมมีประสิทธิภาพ อำนวยประโยชน์ให้กับนายจ้างลูกจ้างมากขึ้น และพวกเราทั้งพรรคช่วยกันยกร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งธนาคารประกันสังคม ซึ่งเหล่านี้เป็นงานที่เราคิดและทำเพื่อดูแลแรงงานนอกระบบ รวมถึงแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ ครอบครัว ผู้ใช้แรงงานที่ได้เสนอต่อนายกฯ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว ซึ่งเราจะสานต่องานที่เราทำมาต่อไป"
บทบาทและความโดดเด่นของ สุเทพ ในฐานะที่คุมพรรคขนาดเล็ก มีส.ส.ในสภาฯเพียงไม่กี่ที่นั่ง นั้นย่อมกำหนดเกมในพรรคได้อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด แม้ลึกๆแล้ว จะมีส.ส.ในพรรคเองที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็ใช่สาระหลัก หรือ "ปัจจัย" ที่มีต่อการตัดสินใจทางการเมืองของสุเทพ แต่อย่างใด
การผลักดันให้เอนก แต่งตัวรอขึ้นไปนั่ง เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่อจาก "หม่อมเต่า" ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่ยังนั่งทำหน้าที่รมว.แรงงาน อยู่ณ วันนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการกำหนดเกมที่มีขึ้นตั้งแต่แรก เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มีการ "เปลี่ยนตัว" หัวหน้าพรรค เมื่อหม่อมเต่า เจอกับแรงกดดันจนต้องตัดสินใจยื่นใบลาออก จากการเป็นหัวหน้าพรรค ที่ผ่านมา
วันนี้สุเทพ ไม่ได้แค่กำหนดเกม เฉพาะพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคขนาดเล็กเท่านั้น หากแต่ยังประกาศตัวให้ "พรรคร่วมรัฐบาล"พรรคน้อยใหญ่ โดยเฉพาะ พรรคพลังประชารัฐ เองที่วาดหวังจะเข้ามานั่งที่กระทรวงแรงงาน ยิ่งเมื่อมีการพูดถึงชื่อ "สุชาติ ชมกลิ่น" กรรมการบริหารพรรค ที่เคยมีชื่อเป็นแคนดิเดต มาตั้งแต่เมื่อครั้งตั้งครม. "ประยุทธ์ 2/1"
ท่าทีและสัญญาณจาก สุเทพ ในฐานะเจ้าของพรรคตัวจริง จึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมองข้ามได้ !