เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com เมืองไทยในอนาคต จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้หรือไม่อย่างไร ลองสรุปบทเรียนบางอย่างจากผู้นำเยอรมนี ก่อนที่จะขอเสนอภาพฝันที่อยากเห็นเป็นจริงในบ้านเรา อาดอล์ฟ ฮิตเลอร์, คอนราด อาเดเนาว์, และอังเกลา แมร์เคิล คือ ผู้นำเยอรมนีที่มีลักษณะคล้ายกันประการหนึ่ง คือ เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส นำชาติพ้นวิกฤติ จากนั้นคนแรกกลับไปสร้างวิกฤติอีก เป็นความพินาศหายนะให้บ้านเมืองและให้โลก สองคนหลังคือผู้นำในอุดมคติที่โลกต้องการ ฮิตเลอร์เข้าสู่อำนาจด้วยคุณลักษณะเด่น 3 ประการ คือ 1) เป็นนักปลุกระดมทางการเมืองที่เก่งกาจ ครอบงำความคิดผู้คน (demagogue) ใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดโฆษณาชวนเชื่อเป่าหูผู้คนจนเกลียดยิว ไม่ต่อต้านมาตรการทางการเมืองใดๆ ที่ไม่เป็นธรรมแต่ถูกทำให้เหมือนว่าเป็นธรรม 2) สร้างงานด้วยโครงการขนาดใหญ่ (mega-project) อย่างถนนมอเตอร์เวย์หลายพันกิโลเมตร ทำให้คนมีงานทำ ส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อการใช้ในประเทศ รวมทั้งการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ แม้จะละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายที่เซ็นหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 “เมื่อคนท้องไม่หิวยอมฟังผู้นำโดยไม่โต้แย้ง” 3) ใช้กฎหมายผูกขาดอำนาจทางการเมือง จากที่เคยมีเสียงในสภาเพียง 3% ในปี 1924 มีถึง 33% ในปลายปี 1932 และได้เป็นนายกรัฐมนตรีต้นปี 1933 ขณะที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลก ฮิตเลอร์สร้างความหวังให้คนเยอรมันเพราะทำให้มีกิน และเมื่อประธานาธิบดีถึงแก่อสัญกรรม เขาก็รวบอำนาจทั้งหมด กลายเป็น “ผู้นำ” (der Fuehrer) ทำให้รัฐสภามีพรรคนาซีพรรคเดียว แต่ที่สุดฮิตเลอร์ก็เปลี่ยนโอกาสให้เป็นวิกฤติ นำประเทศเข้าสู่สงครามโลก หายนะอันยิ่งใหญ่อีกครั้งที่ได้คอนราด อาเดเนาว์มากอบกู้ จนได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งชาติ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ 1)มีคุณธรรมความสัตย์ซื่อ (integrity) ไม่บ้าอำนาจ เป็นผู้นำประชาธิปไตยยุคใหม่ที่ระดมพลังคนเยอรมันทุกระดับทุกกลุ่มในการฟื้นฟูบูรณะประเทศจากหายนะของสงคราม กระจายอำนาจ ปฏิรูประบบบำนาญ ทำให้คนออม และมีสวัสดิการในยามเกษียณ แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม 2)ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้านหนึ่งด้วยความช่วยเหลือจากประเทศชนะสงคราม (มาร์แชลแปลน) อีกด้านหนึ่งก็ส่งเสริมการประกอบการขนาดเล็กทั่วแผ่นดิน เพราะประเทศพันธมิตรทำลายอุตสาหกรรมใหญ่ไปเกือบหมด แต่ยังมีพื้นที่ บุคลากร และทรัพยากรเพื่อการประกอบการขนาดกลางขนาดย่อมอีกมาก ผนึกพลังจนเยอรมนีกลายเป็น “มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ” (economic miracle) ของโลกเพียง 10 กว่าปีหลังสงคราม 3)สร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่างๆ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งประชาคมยุโรป เข้าร่วมกับ NATO ฟื้นฟูความสัมพันธ์และคืนดีกับฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ ทำให้เยอรมนีได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกโดยเร็ว รักษาตราบาปและบาดแผลจากสงครามให้หายได้ คอนราด อาเดเนาว์ เป็นนายกรัฐมนตรีตอนอายุ 73 เป็นอยู่ 14 ปีถึงอายุ 87 นางอังเกลา แมร์เคิล เป็นนายกรัฐมนตรีมาได้ 15 ปี บอกว่าจะลงจากตำแหน่งปีหน้า และไม่สมัครอีก แม้วันนี้อายุเพียง 65 ปีเท่านั้น และเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับนับถือจากคนเยอรมัน ในยุโรปและนานาชาติ เธอเข้าสู่ตำแหน่งในยุคที่มีปัญหาเศรษฐกิจถดถอย (2008-2009) วิกฤติผู้อพยพในยุโรป และวิกฤติโควิด-19 แต่เธอก็มีคุณลักษณะความเป็นผู้นำคล้ายกับคอนราด อาเดเนาว์หลายอย่าง ความสุขุมลุ่มลึก นิ่มนวล อ่อนนอกแข็งใน ทำให้เยอรมนีฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ด้วยดี กลายเป็นผู้นำสำคัญของยุโรปและของโลก ในยุคที่การเมืองอเมริกามีปัญหาผู้นำ เมืองไทยในยุควิกฤติโควิด จะทำวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ ต้องผ่าวงจรอุบาทว์บ้านเมืองซึ่งมีระบบโครงสร้างที่ผูกขาดอำนาจโดยระบบราชการ ที่ทำให้แก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ ถ้าเมืองไทยจะรอดวิกฤติสู่นิวนอร์มัล ไม่ใช่ถอยหลังไปอยู่ในหลุมดำเดิม คงต้องปฏิรูปใหญ่ 1)กระจายอำนาจ ปฏิรูประบบโครงสร้าง รื้อความเป็น “รัฐราชการ” ที่รวมศูนย์อำนาจที่ตัวเองและส่วนกลาง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาท้องถิ่นที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้เร็วกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่าถ้าหากมีโอกาส มีอำนาจ มีงบประมาณ 2)เป็นนิติรัฐ มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน มีกลไก องค์กรอิสระต่างๆ ที่กำกับดูแลธรรมาภิบาลของบ้านเมือง 3)แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยโครงการขนาดใหญ่ที่ทำให้คนมีงานทำ มีรายได้ ที่เริ่มไปแล้วอย่าง EEC ก็ทำให้เสร็จโดยเร็ว พิจารณา “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” (UBI) ที่ทั่วโลกกำลังนำมาประยุกต์ เพราะที่ “แจกๆ “ กันอยู่ ก็คล้ายกับ UBI แต่ยังอยู่ในวิถีเดิม ซึ่งเล็กและกระจัดกระจายเกินกว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ สังคมไทยต้องการผู้นำที่เข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองและโลก มีคุณธรรมความสัตย์ซื่อ มีวิสัยทัศน์ เห็นทุนมนุษย์ คนเก่งคนดีที่มีมากมายในสังคม ระดมผู้คนทั้งประเทศมาร่วมมือกันคิดระบบใหม่ เพื่อฟื้นฟูปฏิรูปพัฒนาบ้านเมืองอย่างที่คอนราด อาเดเนาว์ได้ทำที่เยอรมนีหลังสงครามโลก ภาวะผู้นำไม่ได้อยู่แต่ที่ตัวบุคคล แต่ที่คนที่ห้อมล้อม คณะรัฐมนตรี ที่ปรึกษา ถ้าเลือกมาเพียงเพื่ออุ้มชูให้อยู่ในอำนาจ ประวัติศาสตร์ไม่เคยบอกว่ารัฐบาลที่ไม่มีฐานประชาชนอยู่ได้นาน รู้ว่าเป็นเพียงความฝันที่คงไม่อาจเป็นจริงได้ (impossible dream) แต่เชื่อว่า วันหนึ่งสังคมจะต้องเปลี่ยน อย่างน้อยเริ่มเล็กๆ จากข้างล่าง แต่ตบมือข้างเดียวคงไม่ดัง ต้องเปลี่ยนจากข้างบนด้วย เรื่องใหญ่ที่นักการเมืองหรือเทคโนแครตทำไม่ได้ มีแต่รัฐบุรุษเท่านั้นที่ทำได้