ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จากการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2563 จะมาจากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยหากจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจโลกอยู่ในไตรมาส 2 และฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 3-4 มีสิ่งที่จะต้องติดตาม 2-3 เรื่อง คือ 1.การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 หากเกิดขึ้นและมีการปิดประเทศ จะกระทบเศรษฐกิจในภาพกว้าง 2.สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน และ 3.เสถียรภาพระบบการเงินของโลก ซึ่งจะเห็นว่าการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้และพันธบัตรมากขึ้น หากเกิดการล้มละลายเป็นวงกว้าง จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังล่าสุดได้ปรับคาดการณ์อัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจไทยปีนี้โดยคาดว่าจีดีพีปีนี้จะหดตัว -8.1% ต่อปี ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวที่ -5.3-% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หดตัวมากกว่าสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าปีนี้จะหดตัว -10.3% จากเดิมคาด -8.8% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัว -3.6% ลงทุนภาคเอกชนหดตัว -13% และการลงทุนภาครัฐทรงตัวที่ 5.8% ทั้งนี้ เศรษฐกิจจะหดตัวลึกสุดในไตรมาส 2 และหลังจากนั้นจะทยอยฟื้นตัวกลับมาอย่างช้า ๆ
จากการคาดการณ์ดังกล่าว พบว่า ปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีผลต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในมุมมองของ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษามูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ กล่าว ในงานแถลงข่าวความร่วมมือจัดทำโครงการ "เด็กไทย สู้ภัยโควิด Thai Kids Fight COVID (TKFC)" ว่า การที่ไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศเนื่องมาเดือนกว่าๆ ไม่ได้แปลว่าไทยไม่มีเชื้อฯ อีกแล้ว เพราะอาจจะมีคนไข้ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยเหมือนไข้หวัดแล้วหายเอง แต่ยังแพร่เชื้อได้ อีกทั้งในระดับโลกยังมีแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาสมดุลสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จึงต้องมีการเปิดประเทศให้มีการค้าขายและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แม้จะมีมาตรการป้องกันเข้มข้น แต่เชื่อว่าจะมีหลุดบ้างแน่นอน
นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า การเดินทางโดยเครื่องบินไม่กลัว เพราะล็อกตัวได้ตั้งแต่แรก ที่น่ากลัวคือแรงงานใต้ดินประเทศเพื่อนบ้านที่ลอบเข้ามาตามพรมแดนธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่าประเทศเพื่อนบ้านยังมีการรายงานผู้ป่วยต่ำกว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ตามเราไม่อาจจะคงตัวเลขเป็น 0 รายได้ตลอด อาจจะมีบ้าง แต่ต้องไม่ให้มากไปเกินกว่าระบบสาธารณสุขจะรับไหว คือ 30-50 คนต่อวัน ดังนั้น เราจึงยังต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้น ไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ เพราะมีบทเรียนการระบาดไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อปี 1918 ระลอกแรกคนเสียชีวิต 5 ล้านกว่าคน แต่พอผ่อนคลายระลอก 2 เสียชีวิตถึง 40 ล้านกว่าคน
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า การป้องกันศัตรูที่มองไม่เห็น อย่างเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น รัฐบาลและทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน ร่วมมือกันจนสามารถควบคุมให้ปลอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศได้นานถึง 1 เดือนนั้น ถือเป็นความสำเร็จ ที่น่าชื่นชมและเป็นโมเดลในการขับเคลื่อนในเรื่องต่างภายในประเทศได้ การระบาดระลอกที่ 2 เองก็เช่นกัน ที่เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนจะสามารถป้องกันและควบคุมได้ในที่สุด
กระนั้น ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอีกปัจจัยหนึ่งที่ รัฐบาลสามารถควบคุมได้ โดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ หากแต่เป็นปัยหาสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ก็คือ ความไม่เป็นเอกภาพ และขาดการประสานงานระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจ ที่มาจากต่างพรรคไม่พอ หากแต่ยังต่างคนต่างทำ บางครั้ก็ขัดขากันเอง ฉะนั้นรัฐบาลต้องกำจัดปัจจัยเสี่ยงนี้ให้ได้ เพื่อไม่ให้ทับถมให้เศรษฐกิจไทยทรุดลงไปกว่าเดิม