ความเข้มข้นทางการเมืองยังคงเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อ "ฝ่ายค้าน" เสร็จสิ้นภารกิจการใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
แน่นอนว่างานนี้ การทำหน้าที่ "ตรวจสอบ" ฝ่ายบริหาร ในการจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณ ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ต้องถือว่า "ได้แต้ม" กลับไปไม่ใช่น้อย และคาดว่า จะมี "ภาคต่อ" ตามไปตรวจสอบเงินงบประมาณ 2564 กันต่อในชั้นกรรมาธิการงบประมาณฯ ที่จะมีทั้งส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล เข้าร่วมประชุม
เมื่อพรรคก้าวไกล แบ่งเกมกันเล่นแล้ว "ได้ผล" เป็นที่น่าพอใจ ทั้งเกมในสภาฯ ไปจนถึงการเปิดเกมบุกรัฐบาลด้วยการ ส่ง "แกนนำ" ของพรรค ลงไปเดินสายเตรียมหาเสียงเพื่อเลือกตั้งซ่อมในเขต 5 สมุทรปราการ หลังจากที่ "กรุงศรีวิไล สุทินเผือก" ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ โดนแจก "ใบเหลือง"
แน่นอนว่าการเดินสายเพื่อหาเสียง ตระเตรียมผู้สมัครของพรรคก้าวไกล รวมทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำฝ่ายค้านเองที่เคาะออกมาแล้วว่า จะส่ง "สลิลทิพย์ สุขวัฒน์" อดีตส.ส.สมุทรปราการ เป็นตัวแทนลงชิงเก้าอี้ด้วยเช่นกัน โดยคณะกรรมการบริหารพรรค จะประชุมพิจารณาอนุมัติ ในวันที่ 10 ก.ค.อีกครั้ง
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเอง ก็ชัดเจนว่าจะส่ง กรุงศรีวิไล กลับลงสนาม เพื่อ "แก้มือ" อีกรอบ นัยว่าเพื่อรักษาพื้นที่ และยังเป็นการยืนยันว่า ยังเป็นที่ต้องการของพี่น้องประชาชนชาวสมุทรปราการอีกหรือไม่
อย่างไรก็ดี การขับเคี่ยวทางการเมือง สำหรับเกมนอกสภาฯ ผ่านสนามเลือกตั้งซ่อม หลายครั้งที่ผ่านมานั้น ฝ่ายที่ถือเดิมพัน มากกว่า พรรคฝ่ายค้านคือพรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล
ทั้งการเลือกตั้งซ่อมที่จ.ลำปาง ที่ผ่านมา ซึ่งคนของพรรคพลังประชารัฐ เป็นฝ่ายชนะ เพิ่มที่นั่งส.ส.ในสภาฯให้กับ พรรคพลังประชารัฐได้อีก 1ที่นั่งนั้น ก็ยังต้องใช้ "กลยุทธ์" ด้วยการ "เตะตัดขา" พรรคเพื่อไทย เจ้าของแชมป์เก่า จนทำให้ "พินิจ จันทรสุรินทร์" อดีตส.ส.ลำปาง หลายสมัย ประกาศกลับลำไม่ลงสมัคร ขอพักเบรคการเมือง มาแล้ว
เพราะทั้งนั้นทั้งนี้ มากไปกว่าได้ชัยชนะจากสนามเลือกตั้งซ่อมที่ลำปาง สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ยังหมายความถึง "คะแนนนิยม" ที่พี่น้องประชาชนมีต่อรัฐบาล นั่นเอง และคะแนนนิยมที่ว่านี้แน่นอนว่าย่อมมาจาก ความนิยมของตัว "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ไม่ว่าจะมากขึ้นหรือลดลง แต่ก็ยังอยู่ในสภาวะที่เป็นตัวดึงกระแสให้กับพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาล ได้มากกว่าคะแนนของพรรคเอง
เมื่อความนิยม ของตัวพล.อ.ประยุทธ์ มีความสำคัญทั้งต่อพรรคพลังประชารัฐ อีกทั้งยังประคับประคอง "ครม.ทั้งคณะ" ไม่ว่าจะมากบ้าง น้อยบ้างก็ตามที
ดังนั้นการตัดสินใจที่นายกฯจะขยับ ปรับครม. ไปสู่ "ตู่2/2" ตามเสียงเรียกร้อง และแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองทั้งในพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลนั้น จึงต้องเป็น โจทย์ที่มีความสัมพันธ์ สร้าง "ประโยชน์" มากกว่าที่จะเปิดทางไปสู่ความวุ่นวายไม่รู้จบ !