เมื่อ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ "ผู้นำรัฐบาล" ยากที่จะหยุด ยื้อยุด "การปรับครม." ได้อีกต่อไป จึงมีกระแสสะพัดในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ถึงอย่างไร เมื่อร่างกฎหมายงบประมาณ 2564 ผ่านความเห็นชอบในวาระแรก จากสภาผู้แทนราษฎร ไปแล้วการตัดสินใจไฟเขียวให้มีการปรับเปลี่ยนเก้าอี้ในครม. ก็ต้องมีขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ !
ในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา แทบทุกครั้งของการปรับครม. เปลี่ยนตัวผู้เล่น เปลี่ยนตัว "รัฐมนตรี" ในแต่ละกระทรวง เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้กับ "คะแนนนิยม" ของตัวรัฐบาลเอง ซึ่งจะตามมาด้วย "ความขัดแย้ง" ทั้งในพรรคร่วมรัฐบาลเอง จนหลายครั้งลุกลามมาถึงตัวนายกฯก็มีให้เห็นมาแล้ว
ทว่าการปรับครม. ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คราวนี้ จาก "ประยุทธ์2/1"ไปสู่ "ประยุทธ์2/2" ยังมี "เงื่อนไข" สำคัญที่ต้องเผชิญหน้า นั่นคือการที่รัฐบาลต้องหาทาง กู้วิกฤติเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
เพราะจากนี้ไปประเทศจะเข้าสู่โหมดของการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศจากภาวะเศรษฐกิจที่หนักหนาอย่างที่สุด รายได้ที่เคยวางกรอบ กำหนดได้จาก "อุตสาหกรรมท่องเที่ยว" ก็กลายเป็นความหวังที่ยังต้องรอลุ้น แต่ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลไม่ขยับปรับครม. ผู้นำรัฐบาลก็จะโดน "เขย่า" จาก "กลุ่มการเมือง" ทั้งในพรรคพลังประชารัฐ ไปจนถึง "พรรคร่วมรัฐบาล" ไม่เลิกไม่รา
อย่างไรก็ดีล่าสุด มีแอคชั่นออกมาจาก "บิ๊กเนม" อย่าง "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ซึ่งเป็นเจ้าของพรรคตัวจริง ให้สัมภาษณ์ส่งสัญญาณไปยัง ทั้งต่อ นายกฯ และ "ใคร" ก็ตามที่หวังจะดึงโควต้าเก้าอี้ "รมว.แรงงาน"ออกไปจากมือพรรคในท่วงทำนองที่ดุเดือดและชัดเจนว่า เก้าอี้ตัวนี้มีเจ้าของอยู่แล้ว !
"สิ่งที่เราต้องระมัดระวังคือข่าวสารต่างๆ มีข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปล่อยสารพัด เราต้องตั้งสติคิด พิจารณาข่าวสารเหล่านี้ โดยบุคคลที่จะเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการพิจารณาตัวบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีรับผิดชอบกระทรวงต่างๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น บางคนอาจจะมาสัมภาษณ์ให้ข่าวต่างๆ อย่าไปฟัง ฟังไม่ได้ ฟังได้คนเดียวคือ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวเท่านั้น
ในส่วนกระทรวงแรงงาน พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบหมายให้พรรค รับผิดชอบงานของกระทรวงแรงงาน เมื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล ลาออกเราก็ได้เสนอชื่อ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานแทน ส่วนจะปรับ ครม.เมื่อไหร่ เวลาเหมาะสมอย่างไรคนตัดสินใจก็คือนายกฯ เราไม่ได้ไปกดดัน หรือเร่งรัดท่าน เพราะเราเข้าใจสถานการณ์ทางการเมือง" (5 ก.ค.63)
แน่นอนว่ายิ่งการปรับครม. ขยับร่นใกล้เข้ามามากเท่าใด สัญญาณการต่อรองที่เข้มข้น เด็ดขาด ในท่วงทำนองเดียวกันกับ สุเทพ บิ๊กเนมของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็จะยิ่งทวีความแรงมากเท่านั้น เพราะการปรับครม.ครั้งนี้ ยังหมายถึง "โอกาส" สำหรับใครอีกหลายต่อหลายคน
ขณะที่บิ๊กตู่เอง ก็จะไม่ยอมให้ตัวเองเป็นฝ่ายโดนกดดัน จนไม่สามารถ ปรับครม.เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ไปพร้อมๆกับการยึดหลักเกณฑ์ทางการสาธารณสุข เพราะทำให้ประเทศไทยชนะโควิดในยกแรกกันมาแล้ว เช่นกัน !