ทวี สุรฤทธิกุล
พรรคกิจสังคมสิ้นสภาพไปแล้วโดยที่ไม่มีใครเศร้าเสียใจ
บทความนี้ไม่ได้อยากจะเล่าถึงอดีตของพรรคการเมืองที่เคยยิ่งใหญ่ เพียงแต่อยากพูดถึงนักการเมืองบางคนในยุคนั้น ที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมได้เคยพูดถึงและพยายามสนับสนุนให้เป็น “นักการเมืองรุ่นใหม่ – อนาคตไกล” ซึ่งบางท่านฟังแล้วอาจจะเศร้าใจ ที่ทำไมพวกเขาจึงมาได้ถึงขนาดนี้ และอาจจะเข้าใจว่าทำไมพรรคกิจสังคมจึงได้เสื่อมสูญ อันจะนำมาซึ่งความเข้าใจในอนาคตของพรรคการเมืองบางพรรค ที่กำลังจะประสบความเสื่อมสูญในลักษณะนั้นด้วยเช่นเดียวกัน
ย้อนหลังไปใน พ.ศ. 2517 ภายใต้บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยเสรีภาพของเหล่าวีรชน 14 ตุลาคม 2516 ทันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม รัฐบาลของท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็บอกว่าจะให้มีเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2518 ผู้คนทั้งหลายก็พากันเข้ามาจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างโกลาหล เช่นเดียวกันกับคณะบุคคลที่มารวมกันจัดพรรคกิจสังคม โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2517 ซึ่งผู้ริเริ่มก็คือนายบุญชู โรจนเสถียร กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพจำกัด (เทียบกับสมัยนี้ก็คือประธานกรรมการบริหารบริษัท หรือ CEO นั่นเอง) ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ซาร์เศรษฐกิจ”
นายบุญชู โรจนเสถียร เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชี(เทียบเท่าปริญญาโท) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตอนนั้นทั้งคู่กำลังอยู่ในวัยหนุ่มมากๆ (คุณบุญชูอายุราว 23-24 ปี ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ราว 33-34 ปี) ตอนที่ผู้เขียนทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การต่อสู้ทางการเมืองของพรรคการเมืองไทย : ศึกษากรณีพรรคกิจสังคม” ประกอบการศึกษาปริญญาโท ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2526 ได้ไปสัมภาษณ์คุณบุญชูเรื่องการก่อตั้งพรรคกิจสังคม ท่านเล่าให้ฟังว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตอนนั้น “เฟี้ยวมาก” ใส่เสื้อเชิร์ตแขนยาวสีสดๆ กางเกงเอวต่ำทรงกระบอกสีอ่อนๆ ผมยาวหวีกระดกสีขาววาววับ (แสดงว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ผมขาวทั้งศรีษะมาตั้งแต่หนุ่มแล้ว) ใส่แว่นเก๋ๆ สอนเก่ง มีลูกเล่นลูกฮาสนุกสนาน ไม่เบื่อ สอนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ที่สำคัญคือให้ความสนใจและเอาใจใส่ลูกศิษย์ทุกคน คือมีความเป็นกันเองกับลูกศิษย์มาก
หลังจากจบแล้วก็ไม่ได้ติดต่ออะไรกันมากนัก จะมีบ้างก็ในฐานะที่เป็นนายธนาคารด้วยกันที่ต้องพบปะกันในบางโอกาส จนเมื่อมีการตั้งสมัชชาแห่งชาติหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คุณบุญชูก็ได้รับเลือกจากสมาชิกสมัชชาด้วยกัน ที่เลือกกันเองจากคนสองพันกว่าคนให้เหลือ 250 คน เพื่อไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในสภานิติบัญญัติแห่งชาตินี่เองที่คุณบุญชูได้พบปะกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บ่อยครั้ง เพราะอาจารย์คึกฤทธิ์ได้รับเลือกจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสียงข้างมากให้เป็นประธานสภาฯ โดยคุณบุญชูได้อภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอยู่เสมอ รวมถึงได้ขอเข้าพบท่านอาจารย์คึกฤทธิ์และร่วมรับประทานอาหารทั้งที่เป็นทางการกับเป็นการส่วนตัวอยู่บ่อยๆ ทั้งสองคนจึงสนิทสนมกันมากเพราะพูดคุยกันถูกคอและมีแนวทางในเรื่องการแก้ไขปัญหาของประเทศที่สอดคล้องกัน
ในวิทยาพนธ์ฉบับเดียวกันนี้ ผู้เขียนก็ได้ไปสัมภาษณ์ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ร่วมด้วย ท่านเล่าให้ฟังว่าวันหนึ่งคุณบุญชูได้มาหาในห้องประธานสภาฯ บอกว่าจะจัดตั้งพรรคการเมือง จะมาขอให้ท่านเป็นหัวหน้าพรรค ท่านถามคุณบุญชูอยู่เรื่องเดียวคือ “มีใครมาร่วมในพรรคบ้าง” (เพราะเรื่องนโยบายและแนวทางในการแก้ไขปัญหาของประเทศได้คุยกันมาโดยตลอด จึงไม่มีเรื่องที่จะต้องสงสัยซักถาม) คุณบุญชูก็ตอบว่าก็มีแต่นักธุรกิจและคนที่รู้จักในแวดวงธนาคาร กับนักบริหารและเทคโนแครตจากภาคราชการบางคน (ถ้าเป็นสมัยนี้น่าจะเรียกว่า “4 กุมาร” ฮาๆ) อยากจะให้ท่านอาจารย์(คึกฤทธิ์)ช่วยหาอดีต ส.ส.และคนอื่นๆ ให้เข้ามาร่วมพรรค ตามแต่ท่านอาจารย์จะเห็นเหมาะสม ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ตอบตกลง
ระหว่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปเชิญชวนอดีต ส.ส. ร่วมยุคที่เคยรู้จักกันมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ นายใหญ่ ศวิตชาติ และนายสวัสดิ์ คำประกอบ เป็นต้น รวมถึงลูกศิษย์ลูกหาและนักวิชาการที่ใกล้ชิด อย่าง ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ ดร.สุบิน ปิ่นขยัน นายโกศล ไกรฤกษ์ ฯลฯ ให้เข้ามาช่วยกันทำพรรค คุณบุญชูกับคณะก็ไปเตรียมจัดทำนโยบายพรรค แนวทางการรณรงค์หาเสียง โดยใช้ชื่อพรรคว่า “พรรคกิจสังคม” เพราะอยากจะทำพรรคแบบประเทศสิงคโปร์ที่มีชื่อว่าพรรค People Action Party หรือ “กิจประชา” ซึ่งคุณบุญชูใช้ชื่อพรรคว่า Social Action Party ที่แปลว่า “กิจสังคม” ดังกล่าว
คุณบุญชูบอกว่าจะสร้างพรรคกิจสังคมให้เป็น “พรรคแนวใหม่” แม้ว่าจะมีนักการเมืองรุ่นเก่าเข้ามาร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ก็จะเน้นผู้คนรุ่นใหม่ที่คุณบุญชูเรียกว่า “ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต” ให้เข้ามาเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้มากที่สุด เพราะผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจะเป็นผู้ที่มีสามารถหรือความสำเร็จนั้นเป็นใบรับประกัน และเป็นใบเบิกทางไปสู่การสร้างความนิยมในทางการเมืองนั้นได้ดี แต่ที่สำคัญก็คือคนเหล่านี้เป็นเหมือน “ผ้าขาวบริสุทธิ์” พวกเขาคงจะไม่ทำอะไรให้เสื่อมเสีย ซึ่งจะทำให้การเมืองไทยพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และเป็นชื่อเสียงแก่พรรคกิจสังคมไปในระยะยาว ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนให้กับพรรค
คุณบุญชูเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ แต่คนที่จะเดินไปกับคุณบุญชูในแนวทางนั้นอาจจะมีไม่มาก หรือถ้ามีก็อาจจะเห็นด้วยกับคุณบุญชูแต่เพียงในระยะแรก พอเวลาผ่านไปก็ “เปี๊ยนไป” ด้วยลาภยศและสรรเสริญที่ไม่เข้าใครออกใคร
ถ้าคุณบุญชูยังมีชีวิตอยู่คงจะสมเพชอย่างยิ่งกับคนพวกนี้