แม้การเปิดกิจการโซนสีแดงจะมีความเสี่ยงสูง แต่ความจำเป็นที่จะต้องให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้ ที่ผ่านมาจะมีบางฝ่ายดึงดันให้เร่งผ่อนคลายมาตรการเฝ้าระวังต่างๆ กระทั่งหันมาโจมตีปรมาจารย์แพทย์ที่เป็นมันสมองในการแก้ไขวิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส-19
แต่ผลของมาตรการต่างๆ ก็นำมาสู่การปราศจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศนานกว่า 1 เดือนแล้ว ท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก สะท้อนผลสำเร็จของการ “หน่วงโรค” ที่หากไม่ยอมเจ็บในวันนั้น ก็ไม่มีวันนี้
“การรักษาโควิด-19 ใช้ทรัพยากรเยอะนะครับ แล้วเราไม่ได้มีทรัพยากรมากมายขนาดนั้น เราต้องทำทุกทางเพื่อหน่วงโรคไว้ ให้อยู่ในจุดที่รับไหว” นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ
ฉะนั้น เมื่อพิจารณาบริบทเมื่อเข้าสู่การผ่อนปรนมาตรการในระยะที่ 5 หรือเฟส 5 มีข้อมูลความพร้อมตจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า ในการผ่อนปรนระยะที่ 5 ซึ่งจะมีความเสี่ยงแต่เราต้องการให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติแบบวิถีใหม่ จึงไปสำรวจว่าเรามีทรัพยากรอะไรที่ไว้รองรับบ้าง ซึ่งทุกอย่างเพียงพอ อาทิ เตียงผู้ป่วยที่รองรับสถานการณ์ได้วันละ 50-200 คนต่อวัน และเตรียมพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับไม่มีบกพร่อง ขณะที่การมีวัคซีนรักษาโควิด มีความคืบหน้าไปมาก โดยจะเริ่มทดลองวัคซีนในมนุษย์อย่างน้อย 2 ชนิด โดยแบ่งเป็น 3 ระยะจนถึงช่วงต้นปี 2564 และระหว่างเดือนก.ค.-ก.ย.64 จะทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายให้ได้ 30 ล้านโดส และสามารถนำมาใช้ได้ช่วงกลางปี 64
อีกด้านหนึ่งศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ หมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กขอบคุณผู้หายป่วยจากโควิด-19 ที่บริจาคพลาสมา ระบุว่า “ขณะนี้ได้พลาสมา ของผู้ที่หายป่วยแล้วมากกว่า 200 ถุง ทุกถุงมีภูมิต้านทานสูง ในปริมาณที่สามารถจะใช้ในการรักษาได้ พลาสมานี้สามารถเก็บไว้ได้นาน 1 ปี อาสาสมัครที่มาทั้งหมด ประมาณ 300 คน ภูมิต้านทานจะสูงในคนที่มีอาการมาก เช่น มีอาการปอดบวม คนที่มีอาการน้อย ภูมิต้านทานจะต่ำกว่า และมีจำนวนหนึ่งที่ตรวจวัดภูมิต้านทานไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ได้ทำการศึกษาภูมิต้านทาน”
ขณะเดียวกัน นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงความคืบหน้าการวิจัยฟ้าทะลายโจร หลังทดลองเบื้องต้น เมื่อไวรัสโควิด-19 เข้าเซลล์แล้วมีผลในการฆ่าไวรัสและไม่ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในเซลล์ ว่า กรมฯร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ในการศึกษาสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูงต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 แต่เดิมขอทำการศึกษาทดลองในผู้ป่วยที่สถาบันบำราศนราดูร แต่ขณะนี้ผู้ติดเชื้อโควิด-19ในไทยมีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศและอาการไม่รุนแรง ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศฯ มีจำนวนน้อยหรือไม่มีผู้ป่วยเลย กรมฯ จึงขออนุญาตคณะกรรมการฯ เปลี่ยนสถานพยาบาลเป็น รพ.สมุทรปราการ และ รพ.บางละมุง ที่รับผู้ติดเชื้อเข้ารักษา หลังตรวจพบว่าป่วยระหว่างกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) โดยมีความพร้อมตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา และดำเนินการได้ทันทีหากมีผู้ติดเชื้อตามเกณฑ์เข้ารับการรักษา
เราเห็นว่า ไทยตั้งหลักด้านสาธารณสุขได้แล้ว สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ดี จนสหภาพยุโรปได้ประกาศให้ ประเทศไทย อยู่ใน COVID-19 “Safe List” เป็น “กลุ่มปลอดภัย” หนึ่งใน 14(+1) ประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศในสหภาพยุโรปได้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียน และเป็นเพียง 1 ใน 4 ประเทศในทวีปเอเชีย
ประตูสำหรับโอกาสกำลังเปิดให้กับประเทศไทย ที่เหลือก็อยู่ที่เราจะใช้โอกาสต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ในการเอาชีวิตรอดจากสึนามิเศรษฐกิจ ที่นาทีที่ยังดำดิ่งอยู่ในคลื่นยักษ์ รอความหวังให้เม็ดเงินจากโครงการฟื้นฟูและงบประมาณปี 2564กระจายลงไปกระตุ้นชีพจรให้ตรงจุด