แม้จะไม่น่าแปลกใจ แต่ก็น่าตกใจเมื่อ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยว่า ธนาคารโลก ได้ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลง โดยคาดว่าจะติดลบ 5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ปลายปีที่แล้วว่าจะขยายตัวได้ 2.9% ก่อนจะกลับมาขยายตัวได้ 4.1% ในปี 2564 และ 3.6% ในปี 2565 เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้มีการล็อคดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีผู้ตกงานจำนวนมาก แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการให้เงิน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ยืดเวลาการชำระหนี้ และลดภาษีให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อเสริมสภาพคล่องในภาวะวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม นอกจากนี้ ธนาคารโลก ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยซึ่งทำให้การค้าโลกหดตัวตาม ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทยและกระทบต่อภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์และยานยนต์ ขณะที่การเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อภาคบริการ ภาคค้าปลีก สะท้อนจากยอดขายสินค้าคงทนที่ลดดิ่งลงเกือบ 12% ในช่วงไตรมาสแรกของปี รวมทั้งกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว พร้อมแสดงความเป็นห่วงสวัสดิการของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะรายได้ลดลง รวมทั้งคนตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 8.3 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจที่พากันดิ่งเหวจนน่าหวั่นวิตก อีกด้านหนึ่งยังพอมีสัญญาณดีอยู่บ้าง นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยสถิติการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมว่า ยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) และขยายกิจการใน 21 กลุ่มอุตสาหกรรมช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (มกราคม-29 มิถุนายน2563) มี จำนวน 1,702 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.22 % มีการจ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้น 79.23 % และเงินลงทุน 174,850.47 ล้านบาท ลดลง 14.09% อย่างไรก็ตามแม้ว่าทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 แต่เป็นที่น่าสังเกตคือมีปริมาณการจ้างงานใหม่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากแสดงให้เห็นว่าในส่วนของภาคอุตสาหกรรมได้มีการวางแผนการลงทุนล่วงหน้าอยู่แล้ว จึงทำให้ตัวเลขการลงทุน การจ้างงาน มีตัวเลขที่สูงขึ้น ซึ่งใน 2 ไตรมาสแรก ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19มากนัก ทั้งนี้ ต้องติดตามในไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งอาจจะมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาเป็นตัวชี้วัดอย่างมีนัยสำคัญ “ในส่วนของประเทศไทยก็ยังมีเรื่องดี ๆ โดยพบว่าตัวเลขความต้องการจ้างงานใหม่ของโรงงานที่ขออนุญาตใบ ร.ง.4 และขยายกิจการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และหากเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีอื่น ๆ พบว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 มีความต้องการแรงงานใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 ปี หรือย้อนหลังไปถึงปี 2561 ซึ่งอย่างน้อยก็จะสามารถเข้ามารองรับการจ้างงานในไทยให้เพิ่มขึ้นรวมถึงสามารถช่วยแก้ปัญหาการว่างงานของแรงงาน จากผลกระทบการระบาดไวรัสโควิด-19 และรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ได้ในระดับหนึ่ง”นายประกอบ กล่าว กระนั้น แม้จะมีสัญญาณดีจากการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งหน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆมีการเปิดรับสมัครงาน เพื่อสนับสนุนการจ้างงานในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ยังไม่สมดุลกับตัวเลขคาดการณ์การว่างงาน แนวทางการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพอิสระ ตามวิถีใหม่น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานได้มากขึ้น