รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
นักศึกษาใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในปีนี้ นอกจากจะต้องปรับตัวจากชีวิตเด็กมัธยมเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาเหมือนทุก ๆ ปี โดยต้องเตรียมทั้งตัวทั้งใจ สำหรับปีนี้คงไม่พอ!
โควิด -19 ตัวแปรแทรกซ้อนที่ทำให้การเตรียมตัวที่เป็นรูปธรรม พุ่งเข้าหามหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคำกล่าวที่ยอดฮิตขณะที่ โควิด–19 ระบาดที่ว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ไปจนถึงการปฏิบัติการที่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ “Social Distancing” ก็ยังคงดังก้องหูของผู้คนในสังคมอยู่ตลอดเวลา นับว่าเป็นโจทย์ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยต่างก็ขบคิดแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว
จากมาตรการ “Stay Home Save Lives” ต่อด้วย “Work From Home” ที่หวังจะไม่ให้งานสะดุด ก็สืบต่อมาถึงมหาวิทยาลัยก็คือ “Study From Home” เพราะ โควิด– 19 ระบาดยาวนาน แบบไม่มีทีท่าว่าจะหยุด มหาวิทยาลัยก็ได้เวลาที่จะเปิดเทอมแล้ว!
มหาวิทยาลัยต้องสาละวนกับการจัดพื้นที่รองรับนักศึกษาทั้งด้านการใช้ชีวิตการกินอยู่และการเรียนการสอนให้ปลอดภัยมากที่สุด
ด้านอาคารสถานที่คงไม่ค่อยยุ่งยากเท่าไรนัก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยไทย ณ วันนี้ อาคารสถานที่ที่กว้างขวาง ไม่ต้องแออัดยัดเยียดเหมือนแต่ก่อน เพราะจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างน่าใจหาย
แต่ด้านการจัดการเรียนการสอนน่าเป็นห่วง!
แม้ว่านักศึกษาที่มาจากนักเรียนมัธยมจะรู้จักมักคุ้นกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์แบบชิมลางมาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่โรงเรียนมัธยมทั้งหมด อาจจะมีบ้างในโรงเรียนมัธยมใหญ่ ๆ มีชื่อเสียงที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ แม้แต่ในกรุงเทพมหานครยังไม่ครบถ้วนเลย เรียกว่า “ไม่เต็มร้อย”
แต่การเสริมให้เด็กมัธยมก็ยังมีระบบครูประจำชั้นที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชให้ได้ดี กอปรกับ “ครูแนะแนว” ที่เข้มแข็งของโรงเรียนมัธยมที่ทำให้ชีวิตของเด็กก้าวไปอย่างมีอนาคตและไม่หลงทาง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยประคับประคองให้เดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี
เมื่อนักศึกษาก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ในภาวะ โควิด-19 ยังไม่จางหาย เสียงเรียกร้องและขานรับที่มาพร้อม ๆ กันคือคำว่า “ออนไลน์” ดูจะดังขึ้นเป็นระยะ ๆ และถี่เข้าจนจะกลายเป็น “New Normal” ของนักศึกษาแทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็น...
“ปฐมนิเทศออนไลน์” ปฐมบทที่ต้องเจอเมื่อแรกเข้า
“รับน้องใหม่ออนไลน์” ก็ตามมาติด ๆ
แน่นอน สิ่งที่หลีกไม่พ้นเพราะเป็นหลักในการก้าวเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยก็คือ “การเรียนการสอนออนไลน์”
...ทุก ๆ อย่างที่พึงปฏิบัติในมหาวิทยาลัย ดูคล้ายกับว่า “มหาวิทยาลัยให้เว้นระยะห่าง อย่างเป็นห่วง” เป็นห่วงจริงหรือ? ดูจะเป็นคำถามที่ต่อเนื่อง
หากพลิกมาดูผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จากผู้ที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย 605 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่า “ในภาวะวิกฤติ โควิด-19 นักศึกษามีความพร้อมในการเรียนการสอน เพียง 60.33%” ที่ไม่พร้อมอีก 39.67% ให้เหตุผลว่า กลัวเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจเนื้อหาที่ชัดเจน โดยเฉพาะวิชาที่มีปฏิบัติ 30.70% กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต 25.44% สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยมีเสียงดังรบกวน ไม่มีสมาธิ 23.25% ชอบการเรียนแบบมีเพื่อน มีสังคม ได้ถามตอบกับอาจารย์โดยตรง 21.05% และสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่เสถียร ขัดข้องบ่อย 11.40%
นี่เป็นเรื่องจากนักศึกษาใหม่ ที่ยังไม่ได้สัมผัสกับมหาวิทยาลัยที่ตนเองจะมาใช้ชีวิตเต็ม ๆ
ลองมาดูด้านมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทยที่มีการเตรียมการในด้าน “ออนไลน์” กันบ้าง
มหาวิทยาลัยหลายแห่งมี Microsoft Team เข้าช่วยอย่างแข็งขัน โดยขับเคลื่อนทั้ง One Drive, Adobe Creative Cloud, Office 365 ที่สำคัญยังมี Tele – Counseling ให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาออนไลน์แก่นักศึกษาอีกด้วย
มหาวิทยาลัยเข้าใจดีว่า “การเรียนการสอนออนไลน์ ไม่ใช่แค่กระดาษและปากกา” เท่านั้น
ที่กล่าวมาทั้งหมดคงเป็นแค่ เสี้ยวหนึ่งของ “New Normal” นักศึกษาใหม่ที่ก้าวเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย
ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ “นักศึกษา/อาจารย์/ผู้ปกครอง” “มหาวิทยาลัย/กระทรวง/รัฐบาล” ต้องร่วมมือร่วมใจกันจริงๆ อย่ามองผ่านเรื่องนี้ว่าเป็นเพียงแค่ “อุบัติเหตุจากโควิด-19” เท่านั้น