เดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายที่รัฐบาลจ่ายเงีนเยียวยา 5,000 บาทได้ผ่านพ้นไปแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจจากนี้ไปคือ “ของจริง” ที่ประชาชนและประเทศไทยจะต้องประคับประคองให้ผ่านไปให้ได้ ถือเป็นโค้งอันตรายหักศอก
แม้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การผ่อนปรนมาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 ระยะที่ 5 ให้กับสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเฉลี่ยวันละประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือประมาณ 15,000-30,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาวะเศรษฐกิจ การจ้างงาน สภาพคล่องของธุรกิจ
กระนั้น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า มีการคาดการณ์ว่า ในเดือน กรกฎาคม 2563 หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว จะเริ่มมีธุรกิจที่ทยอยปิดตัวลงมากขึ้น เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการส่งออกยังไม่เกิด โรงงานยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้เต็มที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา
“ดังนั้นในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ รัฐบาลจึงได้วางแผนให้ส่วนราชการเร่งเสนอโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินดังกล่าวพิจารณาโครงการที่มีความเหมาะสม โดยภายในเดือน มิ.ย. 2563 คาดว่าจะเสนอโครงการต่าง ๆ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ตามแผน”
ขณะที่ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่จากการได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ณ เวลานี้
โดยไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2563 จะหดตัว หรือติดลบ ถึงร้อยละ 4.9 จากเดิมที่เคยประมาณการครั้งก่อนเมื่อช่วงเดือน เม.ย. ว่า จะหดตัวไว้ที่ร้อยละ 1.9 อันเป็นผลมาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่จะทำให้เกิดการสูญเสียคิดเป็นตัวเลขทางการเงินจะมีจำนวนมากถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ผลกระทบจะมีไปจนถึงสิ้นปีหน้า โดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
พร้อมกันนี้ ทางไอเอ็มเอฟ ยังระบุสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นรายประเทศด้วยว่า อิตาลี จะติดลบมากที่สุดถึงร้อยละ 12.8 จากเดิมที่เคยประมาณครั้งก่อนติดลบร้อยละ 3.7 ฝรั่งเศสจะติดลบถึงร้อยละ 12.5 จากเดิมที่เคยประมาณครั้งก่อนติดลบร้อยละ 5.3 สหรัฐฯ จะติดลบร้อยละ 8 จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ติดลบร้อยละ 2.1 ญี่ปุ่นติดลบร้อยละ 5.8 จากเดิมที่ติดลบร้อยละ 0.6
นอกจากนี้ ทางไอเอ็มเอฟ ยังแสดงทรรศนะด้วยว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย ท่ามกลางความเสี่ยงทางวิกฤติสาธารสุขโลกที่ยังคงอยู่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ
เมื่อพิจารณาปัจจัยบวกและปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว ถือเป็นโจทย์หินสำหรับรัฐบาลในการรับมือ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเมืองไทย ที่เกิดความหวั่นไหวเรื่องการปรับครม. จึงต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็ว นั่นหมายความว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะต้องเร่งปิดเกม