ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ หลังจุดชมทะเลหมอกได้รับการพัฒนาในปี 2558 กระแสหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวใน ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากสถิติของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทะเลหมอกที่ได้ทำการบันทึกไว้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2559 มีปริมาณนักท่องเที่ยวมาเยือนทะเลหมอกกว่า 180,000 คน คำนวณรายได้ขั้นต่ำจากการจาหน่ายอาหารเช้า จำหน่ายของที่ระลึก เช่ารถ บริการนำเที่ยว ล่องแก่งล้อยาง ล่องแก่งแคนนูคายัค ที่มีรวมมากกว่า 150 ลำ อยู่ระหว่าง 18-24 ล้านบาท นับเป็นผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย อันเป็นปัญหาด้านความมั่นคง ในภาพรวมของ อ.เบตง จ.ยะลา สิ่งที่น่าสนใจติดตามคือ การที่ องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา มีเป้าหมายให้ ต.อัยเยอร์เวง เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในระดับภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ความร่วมมือกับ สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส และสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา โดยจัดจ้างออกแบบโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จุดชมวิวทะเลหมอกตำบลอัยเยอร์เวง ตั้งเป้าไว้ว่า โครงการก่อสร้างสกายวอล์คจุดชมวิวทะเลหมอก เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะสามารถผลักดันให้ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้รับความสนใจผู้คนในระดับอาเซียน และเกิดผลสัมฤทธิ์ในเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรและป่าไม้ ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่สามารถเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคม มั่งคั่งทางเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างยั่งยืน ในที่สุด สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา ได้เสนอโครงการก่อสร้างสกายวอล์คจุดชมวิวทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ซึ่งเป็นระเบียงกระจกที่ยาวที่สุดในโลก ตามแบบที่ อบต.อัยเยอร์เวง ได้ศึกษาออกแบบ เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างสกายวอล์คสำหรับไว้บริการนักท่องเที่ยว และสังเกตการณ์สภาพนิเวศน์ของป่าในพื้นที่ ให้มีศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดยะลา และระดับภูมิภาค ส่งเสริมอาชีพและกระจายรายได้ของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ และเพื่อส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับแผนการพัฒนาและแนวปฏิบัติดาเนินงาน เริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ.2558-2561 แบ่งระยะของแผนการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ คือ ขั้นศึกษาเตรียมการ ปี 2558-2559 ทาง อบต.อัยเยอร์เวง ได้สำรวจพื้นที่ เก็บรายละเอียดสภาพ แวดล้อมเชิงภูมิศาสตร์ ศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชน วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนในพื้นที่ จัดประชุมประชาคมชาวบ้าน หาแนวทางพัฒนาและสรุปแนวทางร่วมกัน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการร่วมกันบริหารจัดการหากมีการดำเนินโครงการ โดย อบต.อัยเยอร์เวง สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส และสานักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา วางแผน แนวพัฒนา นำวาระเข้าประชุมผ่านมติสภาองค์การบริหารส่วนตำบลขอความเห็นชอบ และบรรจุเข้าแผนฯ ตำบล เสนอข้อมูลให้ สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส และสานักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา ทราบ เพื่อจัดทำแผนงานโครงการ โดยให้มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงการจัดจ้างสถาปนิกเพื่อออกแบบ เขียนแบบ รูปแบบโครงการตามความต้องการของท้องถิ่น และความเหมาะสมความเป็นไปได้ของโครงการ ก่อนจะนำรูปแบบโครงการเข้าประชุมเวทีประชาคม และผ่านสภาองค์การบริหารส่วนตำบลอีกครั้ง จัดทำโครงการเป็นรูปเล่ม เพื่อดาเนินการเสนอขอความเห็นชอบโครงการต่อผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอโครงการ เพื่อของบประมาณในการดาเนินการ จากนั้นคือแผนพัฒนาระยะที่ 2 ขั้นดำเนินการก่อสร้างหลังได้รับอนุมัติงบ สถานที่ดำเนินการ คือ หมู่ที่ 4 บ้านธารมะลิ หมู่ที่ 3 บ้าน กม.36 และ หมู่ที่ 6 บ้านกม. 38 ต.อัยเยอร์เวง ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างหมู่บ้าน รวมงบประมาณ 91,000,000 บาท หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส หน่วยงานหลักพื้นที่ดำเนินการ สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา หน่วยงานหลักพื้นที่ดำเนินการ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา หน่วยงานหลักพื้นที่ดำเนินการ อบต.ตำบลอัยเยอร์เวง ผู้ออกแบบโครงการ ที่ทำการปกครองอำเภอเบตง สนับสนุนการจัดทำโครงการ และมี กำนันผู้ใหญ่บ้าน ร่วมวางแผนโครงการ ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ การเกิดศูนย์เรียนรู้ศึกดูงานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานในจังหวัดยะลา สามารถรองรับการศึกษาดูงานขั้นต่ำวันละ 3,000 คน ประชาชนมีความตระหนักถึงประโยชน์ส่วนรวม และร่วมมือในการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เกิดการกระจายรายได้ในระดับพื้นที่ในธุรกิจแขนงต่างๆ ทั้ง อาหาร เสื้อผ้า ของที่ระลึก รถเช่า รถรับจ้าง ฝากรถ ล่องแก่ง แพยาง แพโดนัด โฮมสเตย์ เต้นท์ ที่พัก 300 ห้อง การขายผลิตภัณฑ์ชุมชน ฯลฯ โดยคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวอำเภอเบตง จะเพิ่มขึ้นจาก 400,000 คน ต่อปี เป็น 1,000,000 คนต่อปี ภายในปี พ.ศ.2562 เกิดการกระจายรายได้ไปในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ แรงงานในการก่อสร้าง ธุรกิจที่พัก โรงแรม สถานบันเทิง บริษัททัวร์ ภัตตาคาร ร้านอาหาร และระบบโลจิสติกส์ ส่วนราชการในอำเภอเบตง สามารถเก็บค่าธรรมเนียมภาษีต่างๆ มากขึ้น มีการรวมตัวของชุมชนในการประกอบธุรกิจและกิจกรรมมากยิ่งขึ้น ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ส่งผลให้เกิดความมั่นคงในท้องถิ่น ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นผลให้การพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การเมืองท้องถิ่น การนันทนาการ ดำเนินงานเกิดประสิทธิผลมากขึ้น ทำให้ศักยภาพการท่องเที่ยวของจังหวัดยะลาและอำเภอเบตงมีมากขึ้น และที่สำคัญ จะเป็นรูปแบบและกระแสในการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ในส่วนดัชนีชี้วัด มีการประมาณการรายได้ของผู้ได้ผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการ ผลการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมาใช้บริการ จำนวนห้องพักของที่พักในโครงการและนอกโครงการ และรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ แผนการพัฒนาระยะที่ 1 ปี 2561-2565 ระยะการพัฒนา 5 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมาใช้บริการเฉลี่ย 670,100 คน/ปี ครอบคลุมทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งไป-กลับ หรือค้างคืน รายได้เฉลี่ยจากการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวชาวไทย 163,800,000 บาท/ปี นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 124,100,000 บาท/ปี รวม 287,900,000 บาท/ปี ซึ่งตัวเลขนี้เฉพาะนักท่องเที่ยวทะเลหมอก ไม่รวมที่เที่ยวเบตงแต่ไม่ไปเที่ยวทะเลหมอก โดยสรุปแล้ว รูปแบบที่เกิดขึ้นของ “อัยเยอร์เวงโมเดล” จึงมีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะผลักดันให้ถึงเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนแง่มุมต่างๆ ที่สอดรับกันได้เป็นอย่างดี