ยังต้องลุ้นกันอีกว่า ในการประชุมส.ส.พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ (30 มิ.ย.63) "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนใหม่ จะปรากฎกายเข้าร่วมประชุม ประเดิมตำแหน่งใหม่ ด้วยหรือไม่ !? หลังจากที่ในการประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อวันเสาร์ที่ 27มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ก็ไม่ไปร่วมงาน จนทำให้บรรดา "กองเชียร์" ต้องผิดหวังกันมาแล้ว แถมล่าสุดเมื่อวานนี้ (29 มิ.ย.63) เจ้าตัวก็ไม่เข้าทำเนียบรัฐบาล ขอเลื่อนการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ครั้งที่ 1/2563 ออกไปเป็นวันที่ 1 ก.ค. การที่ พล.อ.ประวิตร ไม่เข้าร่วมประชุมใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่อาคารอิมแพคเมืองทองธานี อาจเข้าใจได้ว่า รู้อยู่แล้วว่าไม่มีอะไร "พลิกโผ" ชื่อหัวหน้าพรรคคนใหม่ ต้องตกเป็นตัวเอง โดยไม่ต้องลุ้น ซึ่งงานในวันดังกล่าวปิดท้ายด้วยการที่พล.อ.ประวิตร ส่งคลิปมาขอบคุณสมาชิกพรรค โดยยืนยันว่าพร้อมที่จะนำพาพรรคไปอย่างมั่นคง อย่างไรก็ดี วันนี้ นาทีนี้ พรรคพลังประชารัฐกำลังเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ถูกคาดการณ์กันว่า กำหนดเกมกันเอาไว้ตั้งแต่ต้นมือ ว่า "หัวหน้าพรรคตัวจริง" คือใคร เพราะอย่าลืมว่าพรรคนี้เคยมี "ชวน ชูจันทร์" นั่งขัดตาทัพเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ต่อมาชวน ชูจันทร์ ก็ถึงคราวต้องลุกออกไปแล้วหลีกให้ "อุตตม สาวนายน" หนึ่งในแกนนำกลุ่มสี่กุมาร ขึ้นมารับบทหัวหน้าพรรค แต่ทั้งชวน ชูจันทร์ และอุตตม ต่างเป็นที่รับรู้กันมาตั้งแต่แรกแล้วว่า ไม่ใช่ "ตัวจริง" แต่มาแสดงแทน เพื่อรอจังหวะ "บิ๊กทหาร" 1 ใน "3 ป." มีความพร้อมมากพอ ที่จะเปิดตัว เปิดหน้าลงมาเล่นในสนามการเมืองด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ป. ประวิตร , "ป. ประยุทธ์" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม หรือ ป. "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และที่สุดแล้ว หวยก็มาลงล็อกที่ ป.ประวิตร ว่ามีความเหมาะสมทุกประการที่จะเป็นผู้มาเล่นเกมนี้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้รัฐบาลและ เก้าอี้นายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะรับบท "ผู้นำรัฐบาล" ซึ่งคาดว่าอาจจะ "อยู่ยาว" แม้ล่าสุดจะมีข่าวลือมาเป็นระลอกว่า ไม่ช้าไม่นานพล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจให้มีการยุบสภาฯ แล้วเลือกตั้งกันใหม่ นัยว่าเริ่มเบื่อหน่ายกับปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในทั้งพรรคพลังประชารัฐ ไปจนถึง "พรรคร่วมรัฐบาล" ไม่ว่าจะเป็นพรรคหลักๆไปจนถึง พรรคเล็กที่สามารถเปิดเกมต่อรองอำนาจกับพรรคพลังประชารัฐ ได้ตลอดเวลา ถึงกระนั้นดูเหมือนว่า ข่าวลือที่ว่านั้น ในมุมของพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยเองกลับมองว่า "เป็นไปได้ยาก" เพราะในเมื่อรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ อยู่ในสถานะที่เหนือกว่า ถือ "อำนาจ" เอาไว้ในมือ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคืนอำนาจ แล้วเปิดสนามเลือกตั้ง ให้เสียเวลา ลำพังแค่เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเคาะ ให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ยังริบหรี่เต็มที ! การลงมาเล่นเอง ของ ป.ประวิตร ด้วยการตัดสินใจรับบท "หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ"นั้น อาจเป็นสีสันที่หวือหวา แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะเกมนี้ ถูกวางเอาไว้แต่ต้นแรกอยู่แล้ว !