ทีมข่าวคิดลึก เกิดเป็นกระแสที่ดังขึ้นมาเซ็งแซ่และทำท่าว่าจะจบลงได้ยากเสียแล้ว เมื่อวันนี้มีการพูดถึง "นายกรัฐมนตรีคนนอก" ว่าจะเป็น "ใคร" และมาจากประตูบานไหน จะเป็น "250 ส.ว." ทำหน้าที่เปิดประตูต้อนรับ ใช่หรือไม่ ประเด็นคำถามเหล่านี้ ได้กลายชนวนที่ทำให้บรรยากาศการเมือง คุกรุ่นขึ้นอีกครั้ง !? แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ถูกวางกรอบเอาไว้เบื้องต้น หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในราวปลายปี2560 นักการเมืองทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ จะได้ลงสนามเลือกตั้งภายใต้ "รัฐธรรมนูญฉบับใหม่"อีกทั้งยังจะเป็นช่วงที่ถือได้ว่าการเมืองกำลังจะเข้าสู่การ "เปลี่ยนผ่าน" จากภายใต้การนำของ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช. ไปสู่ "รัฐบาลใหม่" ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนว่าวันนี้ นักการเมืองจากสองพรรคใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยต่าง ไม่อาจทนนิ่งเฉยอยู่ได้ โดยไม่แสดงท่าทีหรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยวิตกว่าเมื่อภายหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น แม้พรรคใหญ่ พรรคใดพรรคหนึ่ง จะสามารถเอาชนะสนามเลือกตั้งเข้ามาเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้ก็ตาม แต่ก็อาจไม่ใช่ "สูตรสำเร็จ" ที่จะก้าวขึ้นไปในฝ่ายบริหารมิหนำซ้ำ "ตัวแทน"ของพรรคตนเอง ยังมีโอกาสริบหรี่ที่จะคว้าเก้าอี้"นายกฯคนที่ 30" มาครอบครอง เพราะว่ากันว่า เก้าอี้นายกฯคนที่ 30 นั้นมี"คนจอง" เอาไว้แล้ว ! ยิ่งกระแสในตัว "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. มีมากเท่าใด ยิ่งทำให้หัวหน้า คสช.ได้กลายเป็น "คู่แข่ง"ที่น่ากลัวสำหรับ "นักการเมือง" จากพรรคใหญ่มากขึ้นเท่านั้นทั้งนี้กระแสความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ถูกจับตามาตั้งแต่ช่วงก่อนการออกเสียงประชามติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ ผ่านมาแล้วว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณ "รับร่างฯ-คำถามพ่วง" ก่อนวันที่ 7ส.ค.จะสามารถทำให้คะแนนโหวตรับร่างฯ เอาชนะ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้หรือไม่ และเมื่อผลการลงประชามติออกมาชัดเจนว่า ทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงต่างผ่านการทำประชามติได้อย่างฉลุย ยิ่งทำให้เกิดภาพสะท้อนว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่บิ๊กตู่ ส่งสัญญาณ"รับร่างฯ" และแม้วันนี้ จะเกิดเหตุระเบิดมีการเผาทำลายสถานที่ต่างๆ เมื่อวันที่10-12 ส.ค.ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายที่ลงมือย่อมคาดหวังให้ "แรงระเบิด" กระทบไปยังความเชื่อมั่นของรัฐบาลและ คสช.อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคง แต่ถึงกระนั้น นาทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นฝ่ายที่ถือแต้มต่อได้เหนือฝ่ายการเมืองอยู่ดี การเมืองได้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันเลือกตั้ง แต่อย่างใด เพราะในความเป็นจริงแล้ว ทุกเกมการเล่นได้ถูกกำหนดเอาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการโดดเดี่ยวพรรคเพื่อไทย ไปจนถึงการที่ "บิ๊ก คสช." ที่มากด้วยคอนเน็กชั่น ได้ส่งตัวแทนไปประสานกับ "แกนนำ" พรรคต่างๆ ทั้งพรรคเก่าไปจนถึงการทำพรรคใหม่ ที่จะมีโอกาส"แจ้งเกิด" ในสนามเลือกตั้งรอบนี้ เพื่อเป็น "พันธมิตรทางการเมือง" เวลานี้ได้มีการตระเตรียมแต่งตัวปรับทัพกันแล้วในพรรคการเมืองขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติพัฒนา ที่แว่วว่า "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" จะผลักดันให้"น้องชาย" คือ "เทวัญ ลิปตพัลลภ" ขึ้นมารั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา เองนั้นแม้ในวันนี้จะไม่มี"บรรหาร ศิลปอาชา" ประธานที่ปรึกษาพรรคแล้วก็ตาม แต่พรรคชาติไทยพัฒนาก็ยังถือเป็นหุ้นการเมืองที่ต้องติดตาม นอกจากนี้ยังน่าสนใจว่า ยังมีกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ที่เตรียมตัวกันเพื่อก่อตั้งพรรคในลักษณะที่เน้นจุดขายเฉพาะทาง โดยมีเป้าหมายขอเป็นพรรคเล็ก หน้าใหม่ที่แจ้งเกิดในการเลือกตั้ง เพื่อให้มีที่นั่งในสภา ส่วนจะไปรวมกันเพื่อเป็นพันธมิตรทางการเมือง ให้กับ คสช. ในวันข้างหน้าหรือไม่ น่าจะเป็นไปได้สูงมากกว่าที่จะไปยืนอยู่ในระนาบเดียวกับพรรคเพื่อไทย วันนี้ บิ๊ก คสช. หลายต่อหลายคนต่างออกมาปฏิเสธว่าไม่คิดจะสืบทอดอำนาจ ไม่มีการพูดคุยกันเพื่อตั้งพรรคการเมือง ส่วน "ฝ่ายตรงข้าม" อย่างคนเสื้อแดงพรรคเพื่อไทยเอง พากันกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกปาก "ตอบรับ"การเข้ามาเป็นนายกฯคนนอก ให้ชัดเจนโดยไม่ต้องกั๊กกันอีกต่อไป สถานการณ์เช่นนี้ มีแต่จะเพิ่มความเข้มข้นให้กับการเมืองทุกขณะเพราะการต่อสู้ได้เปิดฉากขึ้นโดยไม่ต้องไปรอถึงวันที่สนามเลือกตั้งเปิดแต่อย่างใด !?