เดือนมิถุนายนกำลังจะผ่านไป ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ครึ่งปีหลังของปีหนูไฟ ที่ต้องยอมรับว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมานั้น สถานการณ์หนักหนาสาหัสสากรรจ์ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
กระนั้น สถานการณ์ครึ่งปีหลังของปี 2563 อิทธิพลของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะยังเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ที่มีผลต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แม้หลายประเทศทั่วโลก จะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลงแล้ว เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ผ่อนคลายมาตรการเฝ้าระวังต่างๆ ลงจนถึงระยะ ที่ 4 พร้อมกับยกเลิกการห้ามออกนอกเคหะสถานหรือเคอร์ฟิว
ขณะที่องค์การอนามัยโลก แถลงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก กลับมาดำเนินมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่อีกครั้ง หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
แน่นอนว่า หากมีสัญญาณการแพร่ระบาดรอบ 2 มาตรการต่างๆ จะต้องกลับมาเข้มงวดกันอีกครั้ง และมีผลต่อกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมือง เศรษฐกิจ รวมทั้งสังคม
กระนั้น โฉมหน้าการเมืองไทยครึ่งปีหลังนี้ ต้องจับตาไปที่ การปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 2/2” ว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร โดยมีแนวโน้มปรับใหญ่หลายตำแหน่ง เพื่อให้รัฐบาลอยู่ยาว ซึ่งจะมีผลต่อเสถียรภาพ และความเชื่อมั่น โดยหลังจากมีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา สร้างแรงกระเพื่อมภายในหลายพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคการเมืองขนาดเล็กแม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย
การผลักดันทิศทางการทำงานภาครัฐใหม่หรือ New Nomal ภายใต้โครงการ “รวมไทยสร้างชาติ” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และการขับเคลื่อนของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)
ที่สำคัญคือ การเลือกตั้งท้องถิ่น ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่ง ภายในปีนี้อย่างแน่นอน
ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีการฟื้นตัวดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ แต่ยังคงไม่น่าไว้วางใจ เพราะแม้หลายธุรกิจจะกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ แต่กำลังซื้อของประชาชนถดอถย ในขณะที่การส่งออกชะลอตัว
นอกจากพระราชบัญญัติพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2564 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หว่างวันที่ 1 ถึง 3 ก.ค.นี้
ความหวังอยู่ที่ โครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งข้อมูลเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 มีข้อเสนอโครงการรอบที่ 1 รวมทุกแผนงาน 43,851 ข้อเสนอ วงเงินกว่า 1.36 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เราคาดหวังว่า สถานการณ์ครึ่งปีหลัง วิกฤติต่างๆจะคลี่คลาย สังคมไทยจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ไม่ว่าจะต้องดำเนินไปตามวิถีใหม่จากผลกระทบโควิด-19 หรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีปัจจัยแทรกซ้อน