ทีมข่าวคิดลึก จากผลการสำรวจความเห็นของประชาชน ผ่าน "กรุงเทพโพล" โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยประชาชนร้อยละ 50.6 รู้สึกตื่นตัวอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดร้อยละ 24.6 รู้สึกเฉยๆ เลือกก็ได้ไม่เลือกก็ได้ ร้อยละ 21.8 รู้สึกอยากอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ประเทศสงบดี นอกจากนี้ผลการสำรวจยังบ่งชี้ด้วยว่า "คะแนนนิยม" ของพรรคการเมืองใหญ่อย่าง พรรคเพื่อไทยอันดับหนึ่งถึง ร้อยละ 17.8 ขณะที่ร้อยละ 15.6 เลือกพรรคประชาธิปัตย์นั่นหมายความว่า คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยยังคงกุมความได้เปรียบเหนือคู่แข่งทุกพรรคใช่หรือไม่ นอกจากนี้ ความเห็นของประชาชนโดยกรุงเทพโพลในหัวข้อจะสนับสนุน "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯ อีกหรือไม่ พบว่ามีคะแนนถึงร้อยละ 52.8 ที่เทให้ แม้จะลดลงจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา ในเดือน ม.ค. สิ่งที่สะท้อนผ่านความเห็นของประชาชน โดยกรุงเทพโพล ทั้งความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งและคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย ที่ยังครองแชมป์เป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่งในใจของประชาชนเช่นนี้ อาจจะกลายเป็น "แรงกดดัน" ต่อรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ไม่น้อย เนื่องจากความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้มีการเปิดสนามเลือกตั้ง ตามที่ คสช. ได้ให้สัญญาเอาไว้ ย่อมทำให้ คสช. ไม่สามารถขยับหรือปรับเปลี่ยนโรดแมปได้อีกต่อไป แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในทางการเมืองหรือด้านความปลอดภัยของผู้คนในสังคมที่กำลังท้าทาย คสช. อยู่ในเวลานี้หรือไม่? ล่าสุด "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาระบุแล้วว่า อย่าเอา "เหตุระเบิด" ที่เกิดขึ้น 3 ครั้ง 3 ครา ใน กทม.มาโยงใยกับ "การเลือกตั้ง" ว่าจะต้องเลื่อนออกไปหรือไม่ เพราะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ สองพี่น้องบูรพาพยัคฆ์ ต่างรู้ดีว่าวันนี้ทั้งสองเรื่องได้กลายเป็น "ปมเดียวกัน" ไปเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ "ระเบิดการเมือง" ที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือไม่ชัดเจนว่าแท้จริงแล้วเป็นฝีมือของใครหรือแม้แต่ก่อนหน้านี้จะมี "จดหมายข่มขู่" ที่เคยถูกอ้างว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย BRN แต่ทว่าสำหรับมุมมองของคนทำงานด้านการข่าวในเชิงลึก ยังไม่ได้ให้น้ำหนักในประเด็นดังกล่าว สถานการณ์ในบ้านเมืองที่ถูกดึงมาโยงใยพัวพันกันทั้งความไม่สงบ ความรุนแรงจากเหตุระเบิดป่วนเมืองรอบแล้วรอบเล่า ย่อมไม่ตัดประเด็นเรื่องของการเมืองไปได้แต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่าบรรดานักการเมืองเองต่างแสดงปฏิกิริยาในลักษณะของการต่อต้าน คสช. อย่างตรงไปตรงมา หากพล.อ.ประยุทธ์ คิดที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป นอกจากนี้ต้องยอมรับว่า เกิดความไม่แน่ใจ ไม่เชื่อมั่น ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้จริงตามโรดแมป ว่ากันว่า ยิ่งเมื่อคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยยังมาแรงผ่านการสำรวจจากโพลสำนักต่างๆ ด้วยแล้ว อาจกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้วันเวลากำหนดวันเปิดสนามเลือกตั้ง ย่อมถูกลากยาวออกไป