นับเป็นข่าวดีสำหรับลูกหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท.ได้หารือกับผู้ให้บริการทางการเงินประกอบด้วยสถาบันการเงินสถาบันการเงินเฉพาะกิจสมาคมและชมรมของผู้ให้บริการทางการเงินรวม 9 แห่งออกมาตรการเพิ่มเติมระยะที่ 2 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 ปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปร้อยละ 2–4 ต่อปีสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
มาตรการที่ 2 เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนหรือที่ผ่อนชำระเป็นงวดสำหรับลูกหนี้ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาทขยายวงเงินจากเดิม 1.5 เท่าเป็น 2 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้มาตรการที่ 1-2 มีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2563
ส่วนมาตรการที่3มาตรการขั้นต่ำเพิ่มเติมได้ขยายขอบเขตและระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบและไม่เป็น NPLs โดยผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดให้มีทางเลือกความช่วยเหลือขั้นต่ำให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบได้เลือกตามประเภทสินเชื่อเช่นการผ่อนชำระขั้นต่ำการเปลี่ยนสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาวการลดค่างวดหรือการเลื่อนชำระค่างวดหรือเงินต้นเป็นต้นและกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องอำนวยความสะดวกรวมทั้งให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้โดยการช่วยเหลือตามมาตรการขั้นต่ำจะไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้จึงไม่สามารถเรียกเก็บเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆและในกรณีที่ลูกหนี้ประสงค์จะชำระหนี้ก่อนกำหนดจะต้องไม่มีการคิดค่าเบี้ยปรับสำหรับลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านช่องทางต่างๆของผู้ให้บริการทางการเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนถึง 31 ธันวาคม 2563
และมาตรการที่4การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้ลูกหนี้กรณีลูกหนี้ได้รับผลกระทบจนเป็นNPLs ขอให้พิจารณาชะลอการยึดทรัพย์
นายรณดล นุ่มนนท์รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.เชื่อมั่นว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมระยะที่ 2 จะทำให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมลดภาระหนี้และลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ขณะที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและมีวิธีปฏิบัติต่อลูกหนี้ในแนวทางเดียวกันโดยธปท.จะติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดำเนินการตามแนวทางการช่วยเหลือสำหรับลูกค้ารายย่อยระยะที่ 2 ของธปท. จะเป็นภารกิจเพิ่มเติมของสถาบันการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี นอกเหนือไปจากการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนสภาพคล่องกับกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs อย่างไรก็ดีคงต้องยอมรับว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลตามแนวทางดังกล่าวจะเพิ่มแรงกดดันให้กับสถาบันการเงิน เพราะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 3/63
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจให้ไปได้เรื่อยๆ เพราะหากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ยอมเลิกรา ดอกเบี้ยที่ยังเบ่งบานต่อไป ปัญหาก็จะวนกลับมาสู่ผู้ให้บริการ หรือสถาบันการเงินจะได้รับผลกระทบอยู่ดี หากลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตรงเวลาหรือสุดท้ายผ่อนชำระต่อไปไม่ไหว และต้องกลายเป็นหนี้เสีย โอกาสที่จะสูญเสียรายได้มีสูงเช่นกัน ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย
ดังนั้น การช่วยลดเพดานดอกเบี้ยลงมาจึงเป็นการช่วยทั้งลูกหนี้ ผู้ให้บริการ และที่สำคัญคือให้ลูกหนี้ยังมีเงินเหลือไปกระจายรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ