ทีมข่าวคิดลึก การตัดสินใจครั้งสำคัญก่อนเดินหน้ารุกต่อในสเตปต่อไปในห้วงสัปดาห์ก่อนถึงวันลงประชามติ 7 ส.ค. ดูเหมือนว่าไม่เพียงแต่จุดโฟกัสจะเทไปที่ "พรรคการเมืองอันดับสอง" อย่าง "ประชาธิปัตย์"ที่จะประกาศจุดยืนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้ 25 ก.ค.เท่านั้น แต่น่าจะถือได้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ทุกกลุ่มทุกฝ่ายทั้งฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายต้าน ต่างอยู่ในอาการเคลื่อนไหวไปพร้อมกับ "เงี่ยหูฟัง"กันไปทั้งสิ้น ! 2 ในสถานการณ์ที่เข้มข้น ส่งผลต่อการมีส่วนได้ส่วนเสีย ยังผลไปถึงเรื่องของโอกาสพ่ายแพ้หรือคว้าชัยชนะได้ทั้งสิ้นนั้น แน่นอนว่า ใครก็ตามที่มี "ข้อมูลเชิงลึก" อยู่ในมือ น่าจะเป็นฝ่ายที่ยึดกุมชัยชนะเอาไว้ได้มากที่สุด ว่ากันว่า การประกาศท่าทีของ"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต่อประชามติครั้งนี้ ท่ามกลางความสนใจของสังคม ตลอดจนทั้งพรรคเพื่อไทยและ คสช.เองนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้นำพรรคอันดับสองต้องการที่จะได้ข้อมูลเชิงลึกที่แน่นอนเสียก่อนว่า "ทิศทาง" ของประชาชนในสังคมที่มีต่อ "ร่างรัฐธรรมนูญ"นั้นจะออกมาว่า รับหรือไม่รับ เพราะอย่าลืมว่าพรรคการเมือง นั้นย่อมต้องยึดโยงกับประชาชนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ข้อมูลเชิงลึกที่ คสช.มีอยู่ในมือนั้น ต้องมาจากการข่าวของกอ.รมน.,สันติบาล กระทรวงมหาดไทย ที่ต้องตรวจสอบในทุกพื้นที่ว่า จุดไหนที่ใดถือเป็น "จุดอ่อน" ต้องเสริมและเพิ่มเติมตรงไหนกันบ้าง เพื่อปิดจุดอ่อน การป้อนข้อมูลเชิงลึกจากหน่วยงานต่างๆเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายตามที่ "ทีมข่าวคิดลึก"ได้เคยทิ้งประเด็นเอาไว้ก่อนหน้านี้ ว่าทุกข้อมูลทุกการสำรวจที่เป็น "ความจริง"นั้นย่อมแตกต่างไปจากการสำรวจของโพลบางสำนัก ที่ออกมาในแนวหนุน คสช. แต่ไม่ได้ให้ "ข้อเท็จจริงเชิงลึก" ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ "ขยับ" หมากบนกระดานของ คสช.แต่อย่างใด ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา"กฤษฎา บุญราช" ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้เพิ่มความเข้มในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียง โดยให้ดำเนินการ1.ให้อำเภอแจ้งไปยังวิทยากรระดับพื้นที่หมู่บ้าน หรือครู ค.ไปประชุมประชาคมในหมู่บ้านทั้ง 74,588 หมู่บ้าน โดยให้ครู ค. ของแต่ละหมู่บ้านอ่าน และชี้แจงทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนฟังอีกครั้ง โดยเริ่มดำเนินการในระหว่างวันที่ 31 ก.ค. - 5 ส.ค.นี้ แบบปูพรมให้กับทุกหมู่บ้านและชุมชน อีกรอบให้เกิดความตื่นตัว และออกมาใช้สิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 2.ให้ผู้ว่าฯให้ความร่วมมือกับ กกต.ในการจัดกิจกรรมเชิญชวนรณรงค์ ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 4 ส.ค.นี้ พร้อมกันทุกจังหวัด และ 3.ให้ผู้ว่าฯใช้เครื่องมือสื่อสารทางเทคโนโลยีในพื้นที่ทุกช่องทาง รวมทั้งสื่อโซเชียลมีเดีย วิทยุท้องถิ่น สถานีโทรทัศน์ประจำภูมิภาคและให้ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีการให้บริการเคเบิลทีวีในชุมชน หรือหมู่บ้าน เพิ่มข้อความอักษรวิ่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ โดยประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงที่มีการออกอากาศของทีวีเคเบิล นอกจากนี้ "ประดิษฐ์ ยมานันท์"รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยังมีหนังสือด่วนที่สุดผ่านมาถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติของศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยฯระดับจังหวัด และระดับอำเภอ โดยมีเนื้อหาระบุว่า เนื่องจากขณะนี้มีเหตุการณ์ไม่ปกติบางประการเกิดขึ้น เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงซักซ้อมแนวทางในการปฏิบัติของศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยฯ ระดับจังหวัด โดย 1.สั่งการให้ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยฯระดับอำเภอ กำหนดมาตรการในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวทางโดยเคร่งครัด 2.ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการออกเสียงประชามติและการดูแลรักษา "ที่ออกเสียง" เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย 3.กรณีเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ให้ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยฯ ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รายงานเหตุการณ์โดยตรงถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครองโดยทันที 4.ในกรณีที่มีการร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน ให้ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย ระดับจังหวัดรายงานผลความคืบหน้าให้กรมการปกครองทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าคดีจะถึงที่สุด การรุกด้วยกลไกในมือของ คสช.อย่างชอบธรรมเช่นนี้ ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงต้องการให้ประชามติรอบนี้ราบรื่นให้มากที่สุดเท่านั้น หากแต่ยังน่าสนใจว่านี่คือรายการ "กระชับพื้นที่" ฝ่ายต่อต้าน สแกนหาคนบางกลุ่มบางฝ่ายที่ยังแฝงอยู่ในเงามืด เพื่อสกัดไม่ให้สร้างความปั่นป่วนหลังประชามติเสร็จสิ้นอีกด้วยต่างหาก !