วันที่ 30มิ.ย.นี้ จะเป็นวันครบกำหนดการบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ท่ามกลางการเมืองที่จ่อปะทุอยู่ทุกขณะ โดยเฉพาะการเมือง "บนถนน" ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลถูกกดดัน บีบให้อยู่ในสภาพที่ยากลำบากไม่น้อย ยิ่งในห้วงสัปดาห์นี้ จะเป็นจังหวะของการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองภาคประชาชน เพื่อระลึกถึง วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นระยะเวลา 88 ปีของประชาธิปไตยไทย หลังจากที่ ทั้งกลุ่มคณะบุคคล โหมโรงเคลื่อนไหวกันมาก่อนหน้ายาวนานกว่าสัปดาห์ เดินคู่ขนานไปกับการเรียกร้องของส.ส.บางคน บางกลุ่มในสภาฯ ในระหว่างที่ทุกคนกำลังรอความชัดเจนว่าที่สุดแล้วรัฐบาลจะตัดสินใจต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่นั้น กลับปรากฏว่ามีความเคลื่อนไหวทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแนวคิดหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ซึ่งกำลังถูกจับตาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงว่าจะใช้ห้วงเวลานี้ เคลื่อนไหวทางการเมือง จนทำให้เกิดความวุ่นวายตามมาหรือไม่ ? เป็นที่น่าสังเกตว่า "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เองได้ออกมาส่งสัญญาณปรามไปยังกลุ่มการเมืองที่รอโอกาสขยับ ในระหว่างที่เงี่ยหูรอฟังสัญญาณจากรัฐบาลว่าจะต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯหรือไม่ "ผมไม่ได้ต้องการจะใช้กฎหมายมากดดันใครเลย หลายคนก็มาจ้องเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวว่าเป็นเรื่องทางการเมืองซึ่งมันเป็นคนละเรื่อง แล้วทำไมต้องมาจ้องกันตรงนี้ ทำไมจะต้องมาเคลื่อนไหวกันตอนนี้ บ้านเมืองกำลังมีปัญหา การค้าการลงทุนก็ยังมีปัญหา เศรษฐกิจโดยรวมก็มีปัญหา แต่ก็จะขัดแย้งกัน มันใช่เวลาหรือไม่ ลองคิดตรงนี้ดู และนี่คือแนวคิดรวมไทยสร้างชาติเข้าใจหรือไม่" (23มิ.ย.63) อย่างไรก็ดีพล.อ.ประยุทธ์ ยังแสดงความชัดเจนว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นยังมีความจำเป็น เพราะความสำเร็จจากการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด -19 ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯซึ่งถือเป็นยาแรงที่ถูกฝ่ายค้าน และกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ออกมาโจมตีนั่นเอง ขณะเดียวกันทางด้านฝ่ายความมั่นคง เอง "พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ" รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาระบุว่า "บิ๊กแป๊ะ" พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.สั่งการให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร.(มค) และ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ลงไปกำกับดูแลความสงบเรียบร้อย และเตรียมความพร้อมรับมือการจัดกิจกรรมเนื่องในวันครบรอบ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ ทั้งในเครื่องเเบบ และนอกเครื่องแบบ ออกปฏิบัติหน้าที่ สืบสวนหาข่าว ตั้งจุดตรวจจุดสกัดตรวจค้นอาวุธ หรือสิ่งของผิดกฎหมาย เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในบริเวณพื้นที่จัดกิจกรรม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงใน10จังหวัด แน่นอนว่าการนัดชุมนุมทำกิจกรรมของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนในห้วหลายปีที่ผ่านมา ย่อมแตกต่างไปจากการชุมนุมสารพัดม็อบเสื้อสีเช่นในอดีต หากแต่มีความเปราะบางและล่อแหลมมากกว่าหลายเท่านัก เพราะแกนนำรู้ดีว่า การดึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมได้มากเท่าใด ยิ่งจะกลายเป็น "จุดตาย" สำหรับฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลมากขึ้นเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นการชุมนุมก็ยังสามารถกระทำได้ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด และนี่จึงกลายเป็นความท้าทายทั้งต่อฝ่ายที่ชุมนุมเปิดหน้าชนกับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ เช่นเดียวกันกับที่รัฐบาลเองที่แม้จะมี "กองทัพ" อยู่ในมือ ก็ยิ่งยากจะเคลื่อนออกมา "ชน" ได้เหมือนเมื่อครั้งในอดีต !