ทวี สุรฤทธิกุล
นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญใหม่จะมีปัญหา!
หลายคนรวมทั้งผู้เขียนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านประชามติไปนั้น “ร่างเพื่อทหาร” แต่ก็ยังมีผู้รู้บางท่านเชื่อว่า แท้จริงแล้วแม้ว่าจะร่างเพื่อทหาร แต่ก็ไม่ง่ายนักที่ทหารจะสามารถดำเนินการให้ “เป็นไปได้ดั่งใจ” ของทหารนั้นได้ง่ายๆ อย่างที่ผู้รู้ท่านนี้บอกว่า “ทหารไม่มีความลึกซึ้งทางการเมือง”
ผู้รู้ท่านนี้เป็นนายทหาร เคยมีบทบาทอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาตั้งแต่ยุค คมช.ใน พ.ศ. 2549 มาจนถึงยุค คสช.ใน พ.ศ.นี้ท่านก็ยังเป็น สนช.อยู่ด้วย ท่านให้ข้อมูลว่าสมัยที่พลเอกสนธิ บุณยรัตกลินทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่นเดียวกันกับการทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เพราะสถานการณ์บ้านเมืองกำลังเข้ากลียุค ไม่มีใครเอาอยู่ และมีทีท่าว่าสถาบันสำคัญๆ ของชาติจะถูกทำลาย
ผู้รู้ท่านนี้เปรียบเทียบพลเอกสนธิกับพลเอกประยุทธว่า พลเอกสนธิมีจุดเด่นที่ค่อนข้างจะประนีประนอม ในขณะที่พลเอกประยุทธจะมีความเป็นตัวตนหรือมีความมั่นใจในตนเองสูงมาก ในขณะที่จุดอ่อนของทั้งสองคนนี้ก็อยู่ที่การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกบีบบังคับ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการอะไรให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้ พูดง่ายๆ คือมีคนรอบข้างจ้องจะเอาประโยชน์จากอำนาจเผด็จการนี้ แต่ก็เป็นไปได้อย่างยากลำบาก เพราะจะมีผลต่อความอยู่รอดของผู้นำเผด็จการนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
“ทหารไม่คอรัปชั่น แต่ก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้” นายทหารท่านนี้สรุป
อีกเรื่องหนึ่งที่คณะรัฐประหารทั้งสองคณะไม่ค่อย “ประสีประสา” ก็คือเรื่อง “การเมืองไทย” แม้ว่านายทหารส่วนใหญ่ที่เติบโตเป็นนายพลขึ้นมาในยุคนี้ จะสัมผัสและเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ที่ให้ทหารเข้ามา “ยั้วเยี้ย” อยู่ในวุฒิสภาและรัฐบาล ภายใต้การผสานอำนาจของข้าราชการกับนักการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ร่วมกับการขึ้นมามีอำนาจของนายทหารที่ “มากบารมี” อย่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทำให้ทหารในยุคนั้นมีบทบาทอย่างโดดเด่น และเป็น “จุดแข็ง” ให้ทหารได้รับความชื่นชมและถูกเรียกร้องให้มาช่วยประเทศชาติมาตั้งแต่บัดนั้น (ดังจะเห็นได้จากการมีกล่าวว่าผู้มากบารมีได้ถูกแอบอ้างในการรัฐประหารทั้งสองครั้งหลังนี้)
อย่างไรก็ตาม ทหารก็ตั้งอยู่บน “โมหะคติ” หรือความ “หลง” ในตัวเองอย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือ “หลงว่าประชาชนรักทหารตลอดไป” และอีกเรื่องหนึ่ง “หลงว่าทหารย่อมรักทหารด้วยกัน”
ท่านที่มีชีวิตร่วมสมัยและมีความสนใจในการบ้านการเมืองในระดับหนึ่งอาจจะพอมองเห็นว่า ในยามที่ประเทศชาติมีปัญหา ไม่ว่าทั้งที่เป็นปัญหาอันเกิดจากนักการเมืองกับที่เกิดจากทหาร ประชาชนก็จะเรียกร้องฝ่ายตรงข้ามให้ออกมาจัดการเสมอๆ คือเมื่อนักการเมืองโกงกินบ้านเมือง ใช้อำนาจอย่างหลงระเริง ประชาชนก็ออกมาก่อหวอดต่อต้าน ที่สุดก็เรียกร้องให้ทหารออกมาจัดการ “ล้างบาง” นักการเมืองชั่วๆ เหล่านั้นเสีย เช่นเดียวกันเมื่อทหารที่ครองอำนาจ แม้ว่าตอนแรกจะดูทะมัดทะแมงน่าเลื่อมใส แต่พออยู่ไปสักระยะทหารก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร กลับสร้างปัญหาหรือเป็นตัวปัญหาเสียเอง ประชาชนก็จะออกมาขับไล่ทหาร วนเวียนเป็น “วงกลม” อยู่อย่างนี้ อย่างที่เรียกกันว่า “วงจรอุบาทว์”
อีกหนึ่งความหลงที่ว่าทหารย่อมรักทหารด้วยกัน หรือที่พูดเป็นคำคมว่า “เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ” แต่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่สัจธรรมหรือความจริงที่ผิดพลาดไม่ได้ เพราะทหารก็คือข้าราชการจำพวกหนึ่ง แม้ว่าจะมีระบบระเบียบและวินัยเคร่งครัดเพียงใด แต่ด้วย “กระแสผลประโยชน์” ในระบบการเมืองไทย ได้ส่งผลกระทบให้ทหารมีความ “โอนเอน” หรือเปลี่ยนแปลงความเป็นปึกแผ่นนั้นได้ตลอดเวลา อย่างกรณีที่จะมีการจัดสรรตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาให้แก่กองทัพต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านการประชามติไปแล้วนี้ ในระยะแรกทหารที่ได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาเหล่านั้นก็อาจจะ “อยู่ในโอวาท” แต่พอผ่านไปอีกสักระยะเวลาหนึ่งพร้อมกับที่มีเรื่องของผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามา เริ่มจากการเลือกสรรนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี บรรดา “หมูในอวย” เหล่านี้ก็อาจจะเริ่มแข็งขืน กลายเป็น “หอกข้างแคร่” ย้อนกลับมาแทงกันก็ได้
ซ้ำร้ายกับการที่ทหารส่วนใหญ่ “ไม่ประสีประสาทางการเมือง” ก็อาจจะถูกหลอกหล่อโดยบรรดานักการเมืองเขี้ยวลากดินที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร(รวมทั้งที่อาจจะเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยส่วนหนึ่ง) ดำเนินการ “โน้มน้าว” หรือ “ชักใย” ให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากทหารเหล่านั้นหันเห ร่วมรับผลประโยชน์ พูดง่ายๆ ว่าอาจจะถูกซื้อตัวและร่วมเข้าไปในกระบวนการ “น้ำเน่า” ของนักการเมืองที่ทหารคิดกำจัดนั่นเอง
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทหารคิดจองหรือกำหนดเป็นแผนการไว้ในรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพรรคการเมืองใหญ่คงไม่ปล่อยให้เป็นอย่างที่ทหารต้องการ ทั้งนี้ให้คอยดูยุทธวิธีของพรรคการเมืองดังกล่าว รวมถึงตัวคนที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีก็น่าจะไม่ “ขี้ไก่” และน่าจะท้าทายให้ทหารหวั่นไหวได้
เว้นแต่ทหารจะมีการตกลงกับพรรคบางพรรคไว้ก่อน