ยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของรัฐบาลนี้คือ “ประชารัฐ” สานพลังประชารัฐ "รัฐ-เอกชน-ประชาสังคม" สื่อมวลชนควรสนใจติดตามความคืบหน้าของยุทธศาสตร์นี้ โดยเฉพาะทางด้านแผนโครงงานสำหรับเกษตรกรรายย่อย เนืองจากคนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีอาชีพทางการเกษตร ปัญหาใหญ่ที่ผ่านมาเกษตรกรกลับมีรายได้ไม่พอเลี้ยงตัวเองหรือครอบครัว จากผลผลผลิตเสียหาย ราคาสินค้าผันผวน บางรายผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่ตรงกับความต้องการทางการตลาด และส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรแบบต่างคนต่างทำ ขาดการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และช่วยลดต้นทุน ก่อให้เกิดปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างภาคเกษตรกับนอกภาคเกษตร ขณะนี้คณะทำงานการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับหอการค้าไทยเป็นฝ่ายรับผิดชอบด้าน รัฐและภาคเอกชน ทำงานก้าวหน้าไปอย่างไรบ้าง ? เรื่องสำคัญที่ทำยากมากคือ หลักการเกษตรกรรม “รวมแปลงใหญ่” เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเกษตรกรรายย่อย และหลักประกันความสำเร็จก็ไม่แน่นอน ชาวบ้านส่วนไม่น้อยยังเข็ดหลาบกับ “สหกรณ์” ที่ไม่โปร่งใส และ/หรือ ด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกันผลิตสินค้าทางการเกษตรร่วมกัน มีการบริหารจัดการร่วมกันตั้งแต่การรวมกันผลิต การจัดหาปัจจัยการผลิต รวมถึงการจำหน่าย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืนตามหลักการบริหารตามแนวประชารัฐ ทั้งนี้ควรยกระดับมาตรฐานสินค้าสหกรณ์ด้วยการให้อย่างน้อย 1จังหวัด 1 สหกรณ์ ที่ต้องมีหอการค้ามาร่วมด้วย แน่นอนว่าเรื่องการเกษตรระบบแปลงใหญ่นั้นจะต้องเกิดจากความพร้อมใจกันของเกษตรกร ชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง ต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ดี มีความเป็นผู้นำและที่สำคัญคือความเสียสละเพื่อส่วนรวม ความโปร่งใสในการบริหารจัดการ จะต้องทำให้เห็นความสำเร็จเป็นตัวอย่างจริง จึงจะโน้มน้าวให้เกิดการรวมแปลงใหญ่ร่วมกันทำการผลิตได้จริง ยกตัวอย่างในจังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันมีจำนวนแปลงใหญ่ประชารัฐที่ได้รับรองโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดแล้ว ทั้งหมด 512 แปลง จำนวน 31 สินค้า มีพื้นที่รวมในการบริหารจัดการร่วมกัน 1.34 ล้านไร่เกษตรกรประมาณ 85,000 ครัวเรือน ทางด้านหอการค้าไทยก็เห็นว่า คุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐจะต้องช่วยตัวเองได้ระดับหนึ่ง และให้เรียนรู้กลไกลตลาดดีที่สุด เพราะถ้าให้คนมาช่วยก็ช่วยได้ไม่ตลอด เพราะช่วยมากๆ เกษตรกรจะอ่อนแอ และการลงไปประเมินง่ายที่สุด ก็คือ เกษตรกรมีความสุขเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องให้วางแผนชีวิตตั้งแต่ก่อนเริ่มปลูกข้าว ปลูกแล้วจำหน่ายให้ใคร รวมระยะเวลา 4เดือน หลังเก็บเกี่ยวที่เหลือจะประกอบอาชีพอะไรเพื่อให้มีรายได้ทุกวัน เรื่องเหล่านี้ถือเป็นการบ้านที่ภาคเอกชนจะต้องมาร่วมกันคิดกับเกษตรกร ดังนั้นจะต้องหาเกษตรกรที่อาสาสมัครก่อน เพราะชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำแบบปูพรมทั้งประเทศ ต้องตั้งโมเดลให้เห็นก่อน เพื่อสร้างแรงจูงใจ เช่น จะประสานให้โรงสีมารับซื้อข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าตลาดตันละ 200 บาท เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมนาแปลงใหญ่ ทางราชการก็ต้องไม่ทอดทิ้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯก็ยืนยันในเรื่องนี้ และจะมีนโยบายการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง หากพื้นที่ใดมีความเหมาะสม จะรณรงค์เพื่อให้เห็นความสำคัญ เพราะจุดเด่นแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่จะมีการกำหนดผู้จัดการแปลงภาครัฐและผู้จัดการแปลงภาคเอกชนในลักษณะการทำงานร่วมกัน โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัยและพัฒนาต่างๆ รวมทั้งการบริหารจัดการของภาคเอกชนมาช่วยในการพัฒนา