วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญสำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผ่านมา 88 ปี มีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ เลือกตั้งมาแล้ว 28 ครั้ง และผ่านรัฐประหารมา 13 ครั้ง
88 ปีประชาธิปไตยในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกโซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลต่อภูมิทัศน์ทางการเมือง มีผู้อ้างถึงเสรีภาพในการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง ตามความเชื่อสุดโต่งของพวกตน
กระนั้นประชาธิปไตยและเสรีภาพในความหมายที่แท้จริงนั้นคืออะไร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงปาฐกถาเรื่อง “ประชาธิปไตยกับเสรีภาพ” ไว้ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2499 ความว่า “สิ่งที่เราควรจะเข้าใจเสียในเบื้องแรกก็คือ ประชาธิปไตยกับเสรีภาพนั้นมิใช่ของอย่างเดียวกัน ทั้งนี้มิได้หมายความว่าประชาธิปไตยกับเสรีภาพนั้นขัดกัน หรือไปด้วยกันไม่ได้ สิ่งที่ควรเข้าใจนั้นคือประชาธิปไตยกับเสรีภาพเป็นของคนละอย่าง และไม่จำเป็นจะต้องมีอยู่พร้อมกันเสมอไปเท่านั้นเอง เมื่อเรายอมรับความจริงข้อนี้เสียแล้ว ปัญหาของศัพท์ "เสรีประชาธิปไตย" ก็พอจะเข้าใจได้ และปัญหาของความยิ่งหย่อนแห่งเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยก็พอจะเข้าใจได้ และเมื่อเข้าใจแล้วก็พอจะหาทางแก้ไขได้ หรืออย่างน้อย ก็พอจะอดทนได้ ไม่กระวนกระวายใจจนเกินไป
ที่ได้กล่าวมาว่าประชาธิปไตยกับเสรีภาพเป็นของคนละอย่างนั้น ก็เพราะระบอบประชาธิปไตยนั้นเกี่ยวกับ "การกำหนดว่าใครจะเป็นผู้ปกครองแผ่นดินและถือเอาว่าประชาชนจะต้องปกครองแผ่นดิน โดยอาศัยความเห็นชอบของคนหมู่มากเป็นเกณฑ์" ส่วนระบอบเสรีนิยมนั้นเกี่ยวกับปัญหาว่า "ผู้ที่ปกครองแผ่นดินนั้น ควรจะปกครองอย่างไรจึงจะเป็นธรรม" และธรรมะของระบอบเสรีนิยมนั้นก็คือการเคารพสิทธิของชนส่วนน้อย เสรีภาพในการพูด การเขียนแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการนับถือศาสนาอื่นๆ เท่าที่พูดมานี้พอจะเห็นได้ว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของ "ใคร" ในการปกครอง ส่วนเสรีนิยมเป็นเรื่องของ "อย่างไร" หรือวิธีไรในการปกครอง
ระบอบประชาธิปไตย หรือสิทธิและอำนาจของประชาชนที่จะปกครองคนด้วยตนเองนั้น มิใช่ของที่มีกำเนิดขึ้นในเมืองไทยแต่ดั้งเดิม เป็นแน่ ฉะนั้นเมื่อพูดถึงเรื่องนี้เราก็ต้องนึกถึงประเทศอังกฤษและอเมริกา ซึ่งทั่วโลกยอมรับว่าเป็นแม่บทของระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าเราจะศึกษาประวัติของสองประเทศนี้แต่เพียงเล็กน้อย เราก็จะเห็นได้ว่า รากฐานแห่งเสรีภาพนั้นมีอยู่ในสองประเทศนี้ช้านาน ก่อนที่จะเกิดความคิดเห็นทางประชาธิปไตยให้มีการปกครองโดยประชาชน เอกสารประกาศสิทธิเสรีภาพ (Bill of Rights)ของคนอังกฤษนั้นบังเกิดขึ้นใน ค.ศ.1689 แต่สิทธิ เลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษนั้นบังเกิดขึ้นเมื่อ 200 ปีภายหลัง ฉะนั้นหลักการประชาธิปไตยของอังกฤษในปัจจุบันที่ว่า "อำนาจทั้งปวงย่อมอยู่ใต้กฎหมายกฎหมายนั้นจะออกได้ แก้ได้ และยกเลิกได้ เฉพาะแต่ตามวิธีการที่ได้กำหนดไว้ และรัฐบาลอันชอบธรรมคือรัฐบาลที่ได้รับการยินยอมเห็นดีเห็นชอบของผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง" จึงมิใช่หลักการที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์อำนาจในปัจจุบันเป็นผู้กำหนดขึ้น แต่เป็นหลักการอันเกิดจากเหตุผลอันสุจริตของชนส่วนน้อยที่มีอำนาจในการปกครองแผ่นดิน ผู้ซึ่งต้องใช้เวลาช้านานในการกำหนดหลักการเหล่านี้ขึ้น”
(บทบรรณาธิการสยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันที่ 26 กรกฎาคม2559)