ในขณะที่หลายประเทศในสหภาพยุโรป หรืออียู เริ่มเปิดประเทศสำหรับการท่องเที่ยวด้วยการผ่อนคลายข้อจำกัดตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเริ่มเปิดให้ข้ามแดนได้แล้ว ในลักษณะจำกัดจำนวนนักเดินทางจากแต่ละประเทศ และกำหนดพื้นที่ท่องเที่ยว ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโควิด-19
สำหรับประเทศไทย หลังสถานการณ์การเริ่มคลี่คลาย มีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 ในระยะที่ 4 และยกเลิกการห้ามออกนอกเคหะสถาน หรือเคอร์ฟิว ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เคลื่อนไหว สร้างรายได้ โดยนอกจากมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่ครม.อนุมัติ โครงการ“กำลังใจ” “เราไปเที่ยวกัน” และ “เที่ยวปันสุข” ประกอบด้วย
1.โครงการกำลังใจ สนับสนุนค่าเดินทางของ อสม. และ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวม 1,200,000 คน ให้เดินทางโดยใช้บริษัทนำเที่ยวไม่เกินคนละ 2,000 บาท แต่ต้องเดินทางไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน ใช้งบประมาณ 2,400 ล้านบาท
2.โครงการเราไปเที่ยวกัน สนับสนุนค่าโรงแรมที่พักในลักษณะร่วมจ่าย ร้อยละ 40 ของค่าที่พักแต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน โดยต้องมีที่ตั้งเป็นจังหวัดอื่น ไม่ใช่ในทะเบียนบ้านของประชาชนผู้จองที่พัก ใช้ประมาณ 18,000 ล้านบาท
3.โครงการเที่ยวปันสุข สนับสนุนการเดินทางของประชาชน ไม่น้อยกว่า 2,000,000 คน โดยการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่งด้านการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม คือ สายการบินในประเทศ / รถขนส่งไม่ประจำทางข้ามจังหวัด และ รถเช่าในอัตราร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 1,000 บาท ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยทั้ง 3 โครงการจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ตุลาคม เป็นระยะเวลา 4 เดือน รวมวงเงินทั้งสิ้น 22,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีแนวทางการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด (Travel Bubble) ซึ่งเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทาง Travel Bubble หรือแนวทางการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัดไว้ว่า
“Travel Bubble คือ การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศ ที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดีเท่าๆ กัน โดยดูจากสถานการณ์การระบาดในประเทศว่ามีการผ่อนคลายการควบคุมโรคแล้วหรือไม่ มีการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศอยู่หรือไม่ และดูเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อกันด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่เดินทางระหว่าง 2 ประเทศ ภายใต้ความตกลง Travel Bubble จะไม่ต้องถูกกักตัว แต่ทั้งสองประเทศ จะกำหนดจำนวนของผู้เดินทางเพื่อควบคุมจำนวนให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ โดยจะจัดการแบบพิเศษในเรื่องวีซ่า การโดยสารเครื่องบิน ที่พัก การเยี่ยมเยือน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และผู้รับประกัน
โดย Travel Bubble จะทำได้ก็ต่อเมื่อประเทศคู่ตกลงไม่มีผู้ติดเชื้อแล้ว หรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อใกล้เคียงกัน มีการจัดการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพเท่า ๆ กัน ดังนั้น ทั้ง 2 ประเทศจะต้องมีความเชื่อมั่นในการจัดการโรคโควิด-19 ซึ่งกันและกัน มีมาตรการตรวจหาเชื้อและป้องกันอย่างเข้มงวด ต้องตรวจหาเชื้อก่อนออกนอกประเทศต้นทาง และตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางเข้าสู่ประเทศปลายทาง
ขณะที่ กลุ่มเป้าหมาย จะมุ่งเน้นกลุ่มที่มีศักยภาพการใช้จ่ายสูง สามารถติดตามได้และมีหนังสือรับรอง รวมถึงมีความจำเป็นต้องเข้ามา ได้แก่ 1.กลุ่มนักธุรกิจ 2.กลุ่มผู้เข้ามารับบริการรักษาทางการแพทย์ มีการยกตัวอย่างประเทศเป้าหมายในที่ประชุม เช่น จีน รวมฮ่องกงและมาเก๊า เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา หรือตะวันออกกลางบางประเทศ”
ขณะที่องค์การอนามัยโลก ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเกือบทั้งหมดเกี่ยวกับตลาดค้าส่งในกรุงปักกิ่ง ถือเป็นการพบการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน อีกทั้งกรุงปักกิ่ง เป็นเมืองใหญ่ มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังเมืองต่างๆ อีกหลายเมือง อาจส่งผลให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรุนแรงกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า ที่ผ่านมาทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนทำดีแล้วสอบผ่านในการควบคุมโควิด-19 จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การพิจารณาเปิดประเทศสำหรับการท่องเที่ยวต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน ให้ครบถ้วนในทุกมิติ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในระลอกที่สอง