ทวี สุรฤทธิกุล
การเมืองยิ่งยุ่ง ทหารยิ่งเรืองอำนาจ ประชาธิปไตยยิ่งย่ำแย่
คนจำนวนหนึ่งบอกว่าที่ประชาธิปไตยของเราไปไม่ถึงไหนก็เพราะทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง แต่ถ้ามองให้กว้างๆ แล้วสามารถวัดออกมาเป็นน้ำหนักได้ ผู้เขียนเชื่อว่านักการเมืองนั่นแหละที่เป็นคนที่เป็น “ตัวถ่วง” ที่ทำให้การเมืองไทยไม่พัฒนา
ดังที่ได้เล่ามาตามคำบอกเล่าของ “ผู้ใกล้ชิดแกนอำนาจ” ถึงการเมืองในยุคหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ว่าที่บ้านเมืองยุ่งเหยิงอย่างยิ่งในยุคนั้น ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการกระทำของนักการเมืองเอง ที่ทำลายกันเอง แล้วไปดึงทหารเข้ามา “ล้มประชาธิปไตย” โดยอาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง ความวุ่นวายครั้งนั้นจบลงด้วยการยุบสภา แม้นายกรัฐมนตรีคือท่านอาจารย์ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาทุกรูปแบบ แต่ ส.ส.ทั้งในพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านก็เกาะกลุ่มกันจะล้มรัฐบาลให้ได้ ที่สุดจึงต้อง “ทุบหม้อข้าว” ยุบสภาเสียในตอนต้นปี 2519 นั่นเอง
ความวุ่นวายในสภาใน พ.ศ. นี้อาจจะมีความแตกต่างจากเมื่อปี 2518 พอสมควร แต่ยังคงมี “ปัจจัยรากฐาน” แบบเดียวกัน นั่นก็คือการดึงทหารเข้ามายุ่งเกี่ยว เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รัฐบาลชุดนี้ตั้งขึ้นโดยคณะทหารคือ คสช. ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ คสช.กำกับควบคุม ในความเชื่อของสังคมส่วนหนึ่งว่าทหารต้องการสืบทอดอำนาจ โดยการสร้างภาพว่าทหารจะช่วยเป็นแกนนำในการปฏิรูปการเมือง ตามแผนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงปฏิรูปประเทศ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติในระยะเวลา 20 ปี ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเช่นกัน ซึ่งในส่วนของการปฏิรูปการเมืองค่อนข้างจะน่าผิดหวัง ทั้งยังทำให้มองไปได้ว่าทหารไม่ได้มีความจริงใจในการปฏิรูปการเมือง อย่างกับว่ามี “เป้าหมายอย่างอื่น” ที่ต้องทำและสำคัญกว่า
ข้อวิเคราะนี้ไม่ได้เป็นการกล่าวหาลอยๆ แต่มีสถานการณ์ต่างๆ ที่ “ส่อแวว” ไปในแนวนั้น ได้แก่ การที่ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานต่างๆ ในรัฐสภา เริ่มตั้งแต่การก่อตั้งและเข้าสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ โดยใช้อิทธิพลบางอย่างบีบบังคับนักการเมืองที่มีชนักเข้ามาก่อตั้งเป็นพรรค โดยหวังแต่เพียงการกุมคะแนนเสียงให้มากที่สุด ดังจะเห็นต่อมาในภายหลังที่มีการเลือกตั้ง ที่ต้องมีการใช้พลังอย่างหนักในการรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ มาสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลและการเสนอชื่อผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรี (หรือถ้าจะมองย้อนไปในการทำให้พรรคการเมืองบางพรรคต้องถุกยุบพรรค หรือการก่อกระแสให้เกิดการแยกกลุ่มในพรรคฝ่ายค้าน ก็เชื่อกันว่าทหารมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย)
ต่อเนื่องกันด้วยความวุ่นวายในพรรคพลังประชารัฐในช่วงนี้ ที่มีการจัดฉากให้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค แล้วตีข่าวว่าพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ “พี่ใหญ่” ของคณะทหารจะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อหวังผลให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี ก็เป็นความพยายามของนักการเมืองกลุ่มเดิมนั้นเช่นเดียวกัน โดยที่นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้และไม่สนใจ ทั้งที่เป็นกระทำ “บนหัว” ของนายกรัฐมนตรีที่โดยตำแหน่งก็ต้องควบคุมดูแลพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก็ทำให้ผู้คนตีความไปได้ว่า เป็นเพราะพลเอกประยุทธ์ไม่ได้มีอำนาจจริงๆ ในการคุมรัฐบาลใช่หรือไม่ หรือว่าใช้กลยุทธ์ “นั่งบนภูดูหมูกัดกัน” เพราะคิดว่าคงไม่กระทบกระเทือนอะไรกับตนและรัฐบาล หรือพลเอกประยุทธ์ “สมรู้ร่วมคิด” อยากให้เป็นเช่นนั้น คือ “ให้มันยุ่งเข้าไว้” ตัวเองจะได้ลอยอยู่เหนือความขัดแย้ง สร้างภาพสวยๆ ว่า ตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขยะแขยงเหล่านั้น แล้วทำให้เห็นภาพของความเหลวแหลกของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ในลักษณะ “ทหารภาพสวย นักการเมืองภาพเสื่อม”
ผู้เขียนเชื่อมโยงการเมืองไทยเมื่อ 40 กว่าปีมาสู่การเมืองไทยในปีนี้ ก็เพราะเป็นห่วงว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยอาจจะไม่มีวันได้เติบโตอีกแล้ว ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นแย้งกับคนที่เห็นว่าบ้านเมืองปกครองโดยทหารดีกว่าปกครองโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยที่ผู้เขียนก็ไม่ได้รังเกียจหรือเป็นศัตรูกับทหาร แต่มองในภาพการเมืองที่ “สมควร” และเพื่อป้องกันภัยอันตรายจากทหาร ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต รวมทั้งเพื่อปกป้องกองทัพและทหารนั้นเอง ไม่ให้ต้องมารับเคราะห์ในยามที่การเมืองกำลังวุ่นวายเสื่อมโทรม ซึ่งอาจจะกระเทือนไปยังสถาบันอื่นๆ ที่เคารพเทิดทูนนั้นด้วย
ความจริงการเมืองไทยน่าจะ “ราบรื่น” ภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 นั้นแล้ว ถ้า คสช.คิดจะปฏิรูปการเมืองจริงๆ อย่างที่แถลงไว้ในแถลงการณ์ของการทำรัฐประหารนั้น โดยเฉพาะการติดตามเอาผิดนักการเมืองที่ก่อกรรมทำเข็ญกับประเทศ (มีข่าวเล่าลือว่าพวกอาชญากรเหล่านั้นได้กลายเป็น “น้ำซึมบ่อทราย” ของคนที่ถือกฎหมาย ที่ทำการติดตามแบบ “ดึงๆ ปล่อยๆ” เพื่อหารายได้จากการยื้อคดีเหล่านั้น ซึ่งเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจที่อาจจะได้รับ “ค่าซื้อใจ” เป็นกอบเป็นกำ แล้วให้มารับโทษตามกฎหมาย และอีกกรณีหนึ่งก็คือการร่างรัฐธรรมนูญที่ทำเหมือน “เล่นขายของ” เพราะตอนแรกก็ตั้งสภาปฏิรูปประเทศอย่างเอิกเกริก ให้อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ร่างรัฐธรรมนูญอย่างสวยหรู แล้วก็ให้ขว้างทิ้งอย่างไม่แยแส ถึงขั้นที่อาจารย์บวรศักดิ์ครวญออกมาว่า “เขาอยากอยู่ยาว” จนมาได้รัฐธรรมนูญ 2560 นี้ ที่ก็คงจะสมใจคนหลายๆ คน ที่ทำให้การเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย เพื่อเขาจะได้อยู่ยั้ง “ตราบฟ้าดินสลาย”
วุ่นเข้าไปเถิดนักการเมือง นั่นคือทางที่มีคนเขาขีดเส้นให้ไว้