สมบัติ ภู่กาญจน์ ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช ใช้ ‘เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น’ เพื่อประโยชน์ของสังคมและชาติบ้านเมืองไทย ให้ ‘รัฐบาลทหาร’ที่นำโดย จอมพลป.พิบูลสงคราม เห็นว่า เขาทำสิ่งเหล่านี้ ในฐานะ ‘นักสื่อสารมวลชน’คนหนึ่ง ด้วยสติปัญญา บวกความคิด บวกอารมณ์ขัน และบวกความเพียรพยายามที่ครบครันทั้งวิริยะและขันติ โดยใช้ ‘เวลา’ สร้างสรรค์ผลงานสารพัดชนิด อย่างไม่มีเว้นวรรค ตลอดระยะเวลาที่ไม่น้อยกว่า 7 ปี! โมเดลนี้ ชี้ให้เห็นว่า การที่จะร้องแรกแหกกระเฌอให้ใครเห็นว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนย่อมเป็นเสรีภาพของประชาชนคนทั่วไปด้วยนั้น ต้องเป็น ‘การส่งเสียง’ที่มีพร้อมกับ ‘การกระทำ’ด้วย โดยมีผลงานที่คนทั่วไปได้เห็นและยอมรับ มิใช่เห็นหรือยอมรับแต่เพื่อนพ้องน้องพี่กลุ่มเดียวกัน เพราะผลงานที่คนทั่วไปยอมรับนี้ แม้ฝ่ายตรงข้ามจะปฏิเสธ แต่สาธารณชนคนส่วนใหญ่ ย่อมซึมซับ และตระหนักจนยอมรับด้วย นี่คือสาระที่พึงพิจารณา คึกฤทธิ์ ปราโมช เปิดหนังสือพิมพ์สยามรัฐขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2493 สามเดือนหลังจากการเปิด คอลัมน์ตอบปัญหาประจำวันของเขาก็ตามมาอีก และเป็นที่ยอมรับ ทำให้คนอ่านสนใจในหนังสือพิมพ์การเมืองรายวันฉบับเล็กๆที่มีหน้าเพียง 8 หน้า ขายราคา 50 สตางค์ ได้มากขึ้นอีก เพราะคนอ่านชักสนุก ที่อยากรู้ว่า ปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในสังคมทุกวันนี้ ถ้ามีผู้เขียนไปถามคึกฤทธิ์ จะได้รับคำตอบว่าอย่างไร? รัฐบาลเองก็อดไม่ได้ ที่จะต้องชำเลืองมองด้วยว่า ในการสื่อสารสองทางระหว่างสื่อกับประชาชนทั่วไป ด้วยวิธีนี้ รัฐบาลจะมีรูปลักษณ์อยู่ในคำถาม-คำตอบ ในสถานะเช่นใดหรือไม่? หรืออยู่ในบทบาทแห่งตัวร้าย หรือตัวดี? มีตัวอย่างคำถามคำตอบ ที่น่าสนใจอยู่ในผลงานนี้หลายพันชิ้น ซึ่งต่อมาได้มีผู้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มได้มากกว่า 10 เล่มใหญ่ๆ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่สิ่งสร้างสรรค์ผลงานเดียวของคึกฤทธิ์ เพราะพอหนังสือพิมพ์เกิดมาได้ครบหนึ่งปี ถึงกลางปี 2494 หลังจากที่เขียนนิยายเรื่อง ‘โจโฉ นายกตลอดกาล’จบ คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เริ่มเขียนนวนิยายชื่อ ‘สี่แผ่นดิน’ขึ้นใหม่ ด้วยลีลาใหม่ โดยเริ่มเรื่องตอนที่หนึ่งในหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2494 แล้วก็ลงมือเขียน –เขียน-เขียน ต่อเนื่องเป็นประจำไปทุกวัน อาจารย์คึกฤทธิ์พูดถึงการทำงานช่วงนี้ ไว้ในคำนำของหนังสือ ‘สี่แผ่นดิน’ฉบับรวมเล่มครั้งแรก ว่าหนังสือเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’นี้ ผู้เขียนได้แต่งขึ้น และนำลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ รายวันติดต่อกันเป็นเวลาปีเศษ ในขณะที่เขียนนั้น ก็มิได้คำนึงถึงขนาดของเล่ม...........มาเห็นขนาดเมื่อได้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มขึ้นแล้ว ผู้เขียนก็รู้สึกตกใจไม่น้อยไปกว่าท่านผู้อ่านอีกหลายคน เพราะขนาดของหนังสือนั้นโตเกินคาด จนจำเป็นต้องแบ่งออกเป็นสองเล่มด้วยกัน...........ผู้เขียนเอง เจตนาจะให้เล่ม๑นั้น รวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคหนึ่ง และเล่ม๒ ก็เกี่ยวกับเหตุการณ์ในยุคต่อมา ถ้าจะพูดถึง ผลงานชื่อ ‘สี่แผ่นดิน’ ก็คงเป็นหัวข้อใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ที่สามารถแยกพูดต่างหากได้หลายวันไม่จบ แต่ในวาระของการนำเสนอ ‘โมเดลคึกฤทธิ์’ในที่นี้ ผมขอเพียงอ้างถึงผลงานนี้เป็นตัวอย่าง สำหรับการเน้นว่า ในการทำงานใดๆให้เกิดประโยชน์ ‘ความคิด’ กับ ‘การลงมือทำ’ จะต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กัน อาจารย์คึกฤทธิ์ออกหนังสือพิมพ์รายวันชื่อสยามรัฐ ชักชวนมวลชน คือคนอ่าน ให้มาช่วยกันอ่าน ช่วยกันคิด ด้วยบทวิพากษ์วิจารณ์นานาชนิดแล้ว เมื่อยุคสมัยในสังคม ความนิยมอ่านนิยายในหน้าหนังสือพิมพ์ ยังคงมีอยู่และยิ่งมีมากขึ้น นวนิยายเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ จึงเป็นผลงานที่สนองตอบความต้องการนี้ ที่ คึกฤทธิ์ พยายาม ‘คิด’และ ‘ทำ’ อย่างไม่ย่อท้ออยู่ทุกวัน สังคมไทยเมื่อ 70 ปีก่อน มีความนิยมอ่านนิยายรายวันที่ปรากฏในสื่อ แต่สังคมไทยยุคก่อนหลังพ.ศ. 2560 มีความนิยมอ่านสิ่งที่ปรากฏในจอเพราะปัจเจกชนเป็นสังคมก้มหน้า ความเหมือนหรือความต่างกันนี้ จะสามารถใช้ประโยชน์อย่างไรได้หรือไม่ ผมเกิดนึกเปรียบเทียบขึ้นมาขณะที่เขียน จึงได้แต่ฝากไว้ให้เป็นข้อพิจารณา อย่างไรก็ตาม ในกาละและเทศะอันเหมาะสมช่วงหนึ่ง ขณะที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังมีชีวิตอยู่และมีความสุข ผมเคยถามอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า ในช่วงที่ตัดสินใจเขียนนิยายเรื่องสี่แผ่นดินนั้น อาจารย์มีอะไรเป็นสิ่งจูงใจ หรือเป็นแรงผลักดันให้เขียนนิยายเรื่องนี้ออกมาหรือ? ผมยังจำได้ไม่ลืม ว่า อาจารย์คึกฤทธิ์ตอบคำถามผม ด้วยความนี้ “ เมืองไทยมันกำลังอยู่ในบรรยากาศวังเวงน่ะคุณ เพราะหลังจากงานถวายเพลิงพระบรมศพผ่านไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 9) พร้อมสมเด็จพระราชินี ก็ยังต้องเสด็จฯกลับไปที่สวิตเซอร์แลนด์อีก เพราะยังมีพระราชกิจส่วนพระองค์ที่จะต้องไปเคลียร์ให้จบ เมืองไทยตั้งแต่ปี 2494 จึงมีแต่รัฐบาลท่านจอมพลป.ท่านนำประเทศอยู่ฝ่ายเดียวมาเป็นปีที่สาม ฝ่ายที่เห็นตรงข้าม หรือต่อต้านรัฐบาลก็ใช่ว่าจะไม่มี หลังจากที่เคยมีมาครั้งหนึ่งและก็แพ้รัฐบาลจนต้องหนีไปต่างประเทศแล้ว ช่วงนี้ก็ใช่ว่าจะสงบ ผมเขียนเรื่องสี่แผ่นดินไปได้ไม่กี่ตอน ก็ยังเกิดกบฎแมนฮัตตัน รุนแรงถึงขนาดจี้จับนายกรัฐมนตรีไปเป็นตัวประกันได้ แต่ทั้งโชคดีของท่านนายกฯและรัฐบาลที่ยังปราบฝ่ายต่อต้านได้ คราวนี้รัฐบาลก็หันมาเริ่มเข้มงวดกวดขันเอากับหนังสือพิมพ์น่ะซี เพื่อปรามสังคม ใครเห็นต่างอะไรเป็นไม่ได้ โดนเล่นงานหมด คนกล้าทั้งหลายที่เคยมี ก็พากันเงียบสนิท บ้านเมืองมีแต่ความไร้เสียง ผมจึงต้องเขียนนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน เพื่อจะแก้ความวังเวงเหล่านี้ละ ให้คนอ่านได้นึกถึงความสุข ในสิ่งที่เราเคยผ่านเคยมี เมื่อคืนวันเก่าๆที่ผ่านมา ให้คนได้เกิดสติ ว่ามีสุขแล้วก็ต้องมีทุกข์ ให้คนได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ทั้งของบ้านเมืองของสังคมของผู้คน ว่ามันเป็นสามัญญลักษณะของชีวิต อย่าไปคิดอะไรให้มันสุดโต่ง หรือปล่อยชีวิตมันจนล่องลอยไร้สาระ เขียนไปด้วยธีมเหล่านี้ จนจบพอดีกับที่ในหลวงและสมเด็จพระราชินีเสด็จฯกลับมาประทับในเมืองไทยเป็นการถาวรเมื่อปลายปี 2495 แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลท่านจอมพล ท่านก็ยังบริหารประเทศอยู่ต่อมาอีกถึงห้าปี...... ผมก็ยังต้องเหนื่อยกับสยามรัฐมาตลอด จนกระทั่งถึงยุคคุณนี่ละ” ความรู้จัก ‘บรรยากาศ’ที่แท้จริงของสังคมไทย และรู้จักใช้ ‘ความสามารถ’ให้เหมาะสมกับประโยชน์ซึ่งจะเกิดแก่สังคม แก่ชาติบ้านเมือง หรือแก่คนส่วนใหญ่ที่ร่วมชะตาชีวิตอยู่ในประเทศเดียวกัน เป็นโมเดลคึกฤทธิ์ อีกประการหนึ่ง ที่ผมอยากนำเสนอไว้ในข้อเขียนตอนนี้ครับ