ดร. วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
ประเทศไทยยุค 4.0 ติดปากคนไทยแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างน่าจะต้องยกระดับเป็น 4.0 ทั้งหมด การศึกษาก็เช่นเดียวกันพูดกันถึงอุดมศึกษา 4.0 ที่ต้องเปลี่ยน จนมีข่าวคราวว่าถ้าจะให้เร็วต้องใช้ ม.44 โดยให้ต่างประเทศมาเปิดมหาวิทยาลัย 4.0 ในบ้านเรา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดูเหมือนว่าจะเห็นด้วยที่จะให้มหาวิทยาลัยระดับโลกมาเปิดการเรียนการสอนในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศในอนาคตที่มหาวิทยาลัยไทยยังไม่มีศักยภาพ และให้เปิดเฉพาะในเศรษฐกิจพิเศษ ที่ต้องการคนที่เป็นเทคโนโลยีสอดคล้องกับ 10 S – Curve ตามเป้าหมายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นพิเศษ เรื่องนี้ส่งผลไปเป็นประเด็นวิพากษ์กันในแวดวงการศึกษาและมหาวิทยาลัยในประเทศ
กันหลากหลาย ซึ่งในหลักการและกฎหมายที่มีอยู่ มหาวิทยาลัยเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศสามารถให้กฎหมายของมหาวิทยาลัยเอกชนเปิดได้ตามเกณฑ์ของ สกอ.อยู่แล้ว อยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัยระดับใดจะเปิดหรือไม่เท่านั้น
แม้ว่าสิงคโปร์และมาเลเซียจะมีมหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาเปิดการเรียนการสอนบ้างก็ตาม แต่น่าจะเป็นการเชื้อเชิญและร่วมมือกับรัฐบาลมากกว่าที่จะมาตั้งเอง เพราะการลงทุนสูงจะเก็บค่าลงทะเบียนสูงตามไปด้วย ผู้ปกครองจะมีความสามารถส่งบุตรหลานเข้าเรียนได้เพียงใดเป็นปัจจัยสำคัญในบริบทของ Business Plan สำหรับผู้ลงทุนต้องคำนึงถึงความสามารถของลูกค้าด้วย
ในสิงคโปร์ มี MIT ร่วมกับมหาวิทยาลัยของสิงคโปร์ โดยรัฐบาลสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพบริหารจัดการให้เกิด แต่เขามิได้ให้ MIT เข้ามาโดดเดี่ยว เขาเอามหาวิทยาลัยในประเทศมาร่วมมือกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้กับอาจารย์ของสิงคโปร์เอง รัฐบาลลงทุนก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้และหลักสูตรเฉพาะทางระดับสูงที่สิงคโปร์ต้องการ จึงประสบความสำเร็จโดยมีนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเรียนด้วย คล้ายๆกับ AIT ของเรา
หากรัฐบาลประสงค์ต้องการมหาวิทยาลัยระดับโลกเข้ามาร่วมพัฒนากำลังคนให้ เห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเชิญชวนมหาวิทยาลัยระดับโลกมาร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพโดดเด่นในสาขาวิชาที่ต้องการร่วมกัน เป็นการพัฒนาระบบการศึกษาทั้งความเข้มข้นของหลักสูตรและพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาลัยของไทยไปพร้อมกัน
อีกด้านหนึ่งจะเป็นผลดีเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยไทยปรับตัวเอง โดยยกระดับคุณภาพเข้าสู่การแข่งขัน รวมถึงเป็นการประหยัดงบประมาณที่จะส่งครูบาอาจารย์บางคนไปศึกษาวิชาเฉพาะทาง
ในต่างประเทศและประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ต้องส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศเงินไม่ไหลออกไปอีกด้วย อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยในประเทศไทย พึงต้องทบทวนหลักสูตรของตัวเอง แล้วสร้างกลยุทธ์ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีคุณภาพสูงในสาขาวิชาที่ต้องการจะเปิดสอน น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในการผลิตกำลังคนให้กับประเทศ ได้เร็วซึ่งหลายมหาวิทยาลัยทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้นเท่านั้น
ที่ผ่านมามีการประเมินผลงานด้านการศึกษาในรัฐบาลชุดนี้ว่าสอบไม่ผ่าน น่าจะต้องทบทวนยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของการพัฒนาการศึกษาแบบเชิงรุกและก้าวกระโดดหากจะรอผลสัมฤทธิ์ เช่น พรบ.การศึกษา 2542 เป็นบทเรียนอยู่แล้วว่าไม่บรรลุผลสำเร็จหลังจากใช้เวลากันไม่น้อยกว่า 15 ปี
หากเป็นเช่นนั้นประเทศไทย 4.0 จะเกิดได้อย่างไรหากกำลังคนของประเทศไม่ข้ามผ่านไปสู่ 4.0 ก่อนจะถึง 20 ปี ตามเป้าหมาย