จากมาตรการล็อกดาวน์ งดการเดินทางและปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ทะเลไทยได้ฟื้นฟูตัวเอง ภาพของสัตว์ทะเลหายากปรากฏแก่สายตาของชาวโลกในหลายพื้นที่
หลังคลายล็อก จึงมีบรรดานักท่องเที่ยวเริ่มออกไปเที่ยวทะเล เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ และสัตว์ทะเลหายากต่างๆ อย่างไรก็ดี ไม่มีใครอยากให้ภาพของสัตว์ทะเลหายากเหล่านั้นต้องหายไป และอยากให้ทะเลไทยคงสภาพควมสมบูรณ์
เรื่องนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะนำข้อควรปฏิบัติผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เอาไว้ว่า “...เมื่อเจอวาฬ ฉลามวาฬ หรือสัตว์หายาก ควรปฏิบัติตามกติกา ดังนี้ ลดความเร็วเรือ 4 น็อต เมื่อเข้าใกล้ในระยะ 100 เมตร หยุดเดินเรือ ลอยลำ เพื่อป้องกันอันตราย/รบกวนพฤติกรรม หากสัตว์เข้ามาหา เธอจะมาเอง ไม่ต้องห่วง สามลำคือตัวเลขในการเข้าชมวาฬ อย่ามุง อย่าเข้าไปเยอะ รอสักนิดให้เรือลำอื่นออกไปก่อนนะครับ อย่าให้อาหาร (โดยเฉพาะเต่า/โลมา)
สังเกตุพฤติกรรมสัตว์ตลอดเวลา หากสัตว์แสดงออกว่าโดนรบกวน รีบหยุดทำทุกอย่างหากเจอสัตว์บาดเจ็บ/ติดขยะ รีบแจ้งกรมทะเล (เบอร์โทรอยู่ในคอมเมนต์) ดูแลการเที่ยวตามมาตรการโควิด เก็บขยะให้เรียบร้อยและนำกลับมาแยกและจัดการ ลดขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งให้มากที่สุด
ไม่ควรลงน้ำไปว่ายกับวาฬ/โลมา ในกรณีฉลามวาฬ อาจลงไปลอยคอดู แต่อย่าจับแตะเกาะ อย่าว่ายไล่ไปเป็นพรวน
กรมทะเลไม่อนุญาตให้นำพาหนะอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมในการเข้าชมสัตว์หายากโดยเด็ดขาด การกระทำที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลต่อสัตว์หายาก และจะส่งผลต่อการประกอบกิจกรรมในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต”
ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเป็นประธานเปิดงาวันทะเลโลก เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมามีใจความว่า ปัจจุบันเราใช้ประโยชน์จากท้องทะเล ทั้งเพื่อการท่องเที่ยว การดำรงชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สร้างรายได้ปีละหลายแสนล้าน ในทางกลับกัน เราก็ทำร้ายทะเลไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสียและการทิ้งขยะลงสู่สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการจับสัตว์น้ำจนเกินศักยภาพที่จะรองรับได้ วันทะเลโลก เปรียบเสมือนการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญและคุณประโยชน์ของทะเลและมหาสมุทร ธรรมชาติต้องการการดูแล การใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราต้องใช้ตามความจำเป็น และศักยภาพที่ธรรมชาติรองรับได้ การเว้นระยะห่างให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวและปรับสมดุลโดยธรรมชาติ
นายวราวุธ กล่าวว่า จะเห็นได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 รัฐบาลได้มีมาตรการงดการเดินทางและปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลทุกแห่ง รวมถึงอุทยานแห่งชาติกว่า 140 แห่ง ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีการได้ฟื้นฟูโดยธรรมชาติ พบสัตว์ทะเลหายากในหลายพื้นที่ เช่น ฝูงพะยูน เกือบ 20 ตัว โผล่ว่ายน้ำรวมฝูงกันออกหากินใกล้เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง หรือ ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ มากกว่า 30 ตัว โผล่ขึ้นมาเล่นน้ำใกล้เกาะรอก ฝูงฉลามวาฬ จำนวนมาก ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา และ ฝูงฉลามหูดำ เข้ามาหากินที่หมู่เกาะพีพี และเกาะห้อง จ.กระบี่ และการวางไข่ของเต่ามะเฟือง เต่าตนุ พะยูนเข้ามาใกล้ชายหาดสวนสน จ. ระยองหลังไม่ได้พบนานนับสิบปี รวมไปถึงทรัพยากรปะการังที่มีการฟื้นฟูตัวเองหลังจากไม่มีกิจกรรมใดๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมมนุษย์ที่สร้างการรบกวนต่อทรัพยากรธรรมชาติ
“ทะเลเชื่อมต่อกันเป็นผืนเดียวกัน ผลจากการกระทำของเรา สามารถส่งผลกระทบไปได้ไกลกว่าที่เราคิด เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือช่วยให้การจัดการปัญหาง่ายและรวดเร็วขึ้นเท่านั้น แต่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือ ปรับพฤติกรรมของเรา เพื่อส่งคืนทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์สู่ลูกหลานเราต่อไป”
เราเห็นด้วย ที่ว่าการปรับพฤติกรรมเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด ข่าวการพบขยะเกลื่อนหาด และการดื่มสุราริมหาด นอกจากจะทำลายทะเลไทยแล้ว ยังทำลายโอกาสของคนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการสัมผัสกับธรรมชาติที่สมบูรณ์เช่นนี้ เราหวังว่านักท่องเที่ยวทุกคนจะท่องเที่ยวด้วยความรับผิดชอบ รักษากติกา และปฏิบัติตามวิถีใหม่