ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติเห็นชอบมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 โดยให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา แต่ยังคงมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศ ทั้งทางบก น้ำ อากาศ
สำหรับกิจการ/กิจกรรมที่ผ่อนคลายในระยะที่ 4 ประกอบด้วย
1. กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต
การจัดประชุม การอบรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ งานพิธี การจัดเลี้ยง การแสดงดนตรี นาฏศิลป์ คอนเสิร์ต หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในโรงแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์การแสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือในสถานที่อื่น ๆ
(ข) การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงแรม ร้านอาหาร หรือเครื่องดื่มทั่วไป หรือในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และได้ผ่อนคลายให้เปิดดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว ให้สามารถทำได้ ยกเว้นในส่วนของสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และโรงเบียร์ ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการ
(ค) สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน ศูนย์เด็กพิเศษ สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานที่บริการดูแล สถานที่พำนักอาศัย หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่จัดสวัสดิการให้แก่เด็กหรือผู้สูงอายุ
(ง) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม
(จ) การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดีทัศน์
2. กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ
(ก) การอบตัว อบสมุนไพร หรืออบไอน้ำแบบรวมในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ยกเว้นในส่วนของสถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ
(ข) การออกกำลังกายแบบกลุ่มในสวนสาธารณะ ลานกิจกรรม พื้นที่กิจกรรมสาธารณะหรือลานกีฬากลางแจ้ง
(ค) สวนน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสนุก ยกเว้นการใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นการติดตั้งชั่วคราวหรือเครื่องเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสมาก ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคในเด็ก เช่นบ้านบอล บ้านลม
(ง) สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ลานเล่นกีฬา หรือเพื่อการเรียนการสอนในทุกประเภทกีฬา โดยสามารถจัดการแข่งขันและจัดให้มีการถ่ายทอดโทรทัศน์การแข่งขันกีฬาได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขัน
(จ) ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดบริการได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อกิจการและกิจกรรมต่างๆเริ่มเปิดดำเนินการแล้ว ประชาชนผู้ใช้บริการยังจำเป็นต้องป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลโพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก ระบุถึงกรณีที่องค์การอนามัยโลก หรือWHO ได้สนับสนุนให้ทีมวิจัยหนึ่งทำการศึกษาประเมินผลว่า การใส่หน้ากาก และการรักษาระยะห่างนั้นช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อโรค COVID-19 มากน้อยเพียงใด โดยผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระดับโลก The Lancet เมื่อ 1 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา
สรุปสาระสำคัญได้ว่า หนึ่ง การอยู่ห่างจากคนอื่นตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป จะทำให้อัตราการติดเชื้อลดลงกว่าการอยู่ห่างน้อยกว่า 1 เมตร ประมาณ 10% ด้วยช่วงความเชื่อมั่น 95% ระหว่าง 7.5%-11.5%และเมื่อเทียบกับการอยู่ห่างน้อยกว่า 1 เมตรแล้ว การอยู่ห่างตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไปจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลดลง 82% (adjusted odds ratio 0.18 ด้วยช่วงความเชื่อมั่น 95% ระหว่าง 0.09-0.38)
สอง การใส่หน้ากากจะทำให้อัตราการติดเชื้อลดลงกว่าการไม่ใส่หน้ากาก ประมาณ 14.3% ด้วยช่วงความเชื่อมั่น 95% ระหว่าง 10.7%-15.9%และเมื่อเทียบกับการไม่ใส่หน้ากากแล้ว การที่เราใส่หน้ากากจะสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลงได้ราว 85% (adjusted odds ratio 0.15 ด้วยช่วงความเชื่อมั่น 95% ระหว่าง 0.07-0.34)
ดังนั้น แม้จะผ่อนปรนระยะที่ 4 และยกเลิกเคอร์ฟิวแล้ว สิ่งสำคัญที่ยกเลิกไม่ได้คือ การรักษาระยะห่าง และการสวมใส่หน้ากากยังคงเป็นอาวุธในการป้องกันตนเองของประชาชน