ดร.วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
หลังจากไวรัสโควิด -19 ค่อยซาลงไปบ้างแล้ว คงต้องมาพลิกฟื้นปัญหาเศรษฐกิจของไทย ที่ลดลงต่ำ ถึง 6% ของ GDP นับว่ารุนแรงเช่นเดียวกับทุกประเทศที่ประสบปัญหาโควิด -19 ด้วยกันทั้งสิ้น
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าจะหยิบยกปัญหาใดขึ้นมาสะสางก่อนดี เพราะจะไปกระทบกับภาคสังคมของประเทศอยู่ด้วย ถ้าดูจากการวิเคราะห์ของสภาพัฒน์ฯ พบว่าผลกระทบด้านสังคมระดับต้นๆ คือ คนไม่มีงานทำ เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลพึงนำมาปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพในการจ้างงานเป็นการใหญ่ เพราะนอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว ยังเป็นปัญหาจากผลกระทบของโควิด-19 อยู่ด้วย
ระยะสั้น การจ้างงาน/คนตกงานมากขึ้น การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างสาขาเพิ่มขึ้น รายได้ต่อครัวเรือนลดลง/สภาพคล่องของครัวเรือนลดลง และเกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น
ระยะยาว การว่างงานนานขึ้น (Long Term Unemployment) คนยากจนเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง อาทิ การผิดนัดชำระหนี้ ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น และหลักประกันทางสังคมอาจไม่เพียงพอ อันจะทำให้คุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของคนลดลง
จากตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ คาดว่าจะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นระหว่าง 8-10 ล้านคน ทำอย่างไรจึงจะเอาคนว่างงานเหล่านั้นให้มีงานทำซึ่งยังไม่รวมบัณฑิตที่จะจบในปีนี้อีก 4-5 แสนคน ถือว่าเป็นปัญหาอันหนักหน่วงของรัฐบาลลุงตู่ต้องแก้ไข
ผมคิดเอาเองว่าถ้าตัวเลขที่เกิดจากการประกาศปิดงานของรัฐบาลอันเกิดจากปัญหาโควิด-19 ส่วนหนึ่ง และปัญหาอันเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ตกต่ำจำเป็นต้องปิดงานหนีตายกันไปก็อีกส่วนหนึ่ง
หากเอาจากปัญหา โควิด-19 ที่ต่างกลับคืนถิ่นไปทำเกษตรกรรมและค้าขายเล็กๆน้อยๆในต่างจังหวัดมีสัก 2 ล้านคน 1 ล้านคนอยู่ต่างจังหวัด ประกอบอาชีพอื่นบางส่วน อีก 1 ล้านคนกลับไปคืนอาชีพเดิมที่ถูกปิดงานไป เช่น ร้านอาหาร หมอนวด โรงแรม อาชีพอิสระ อื่นๆอีกมาก
อีก 1 ล้านคน คือการปิดงานที่มีหลักประกันสังคมอยู่ ได้มีโอกาสกลับไปทำงานเดิม แต่อีก 2 ล้านคน คือพวก SMEs ชายขอบที่สู้ค่าแรงและค่าใช้จ่ายไม่ไหว คนเหล่านี้จะทำอย่างไร ฟังได้ว่ารัฐบาลเตรียมเงินกองทุน SMEs ชายขอบไว้ประมาณ 1 หมื่นล้านจากการเหลือจากการเยียวยาอยู่แล้วมาให้ SMEs ชายขอบที่ไม่เข้าระบบมีมากกว่า 2 ล้านราย หากให้กู้รายละ 3 ล้านบาทไปต่อชีวิตตนเองและจ้างงานคนที่ถูกให้ออกคงได้อีก 2 ล้านคน รวมเป็น 5 ล้านคน
ส่วนที่เหลือทราบว่ากระทรวง อ.ว. กระทรวงความมั่นคงของมนุษย์จะจ้างมหาวิทยาลัยเป็น integrator จ้างคนในชุมชนอย่างน้อย 20 คนทำงาน 1 ปี มหาวิทยาลัยละ 100 ตำบล คงได้อีกประมาณ 1 แสนคน รวมกับงานอื่นๆที่กระทรวงมหาดไทยจ้างอีก รวมแล้วทั้งหมดประมาณเกือบ 6 ล้านคน
ในส่วนที่เหลืออีก 2 ล้านคนเศษ เป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องเร่งหางานให้ทำ คงไม่ง่ายนัก อาจต้องเป็นการจ้างงานใหม่ที่ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะฝีมือเฉพาะด้าน ซึ่งคงต้องเร่งฝึกอาชีพให้คนเหล่านั้นให้มีฝีมือเพิ่มขึ้น เพราะหากจะเอาแต่ start-up คงไม่ทันแน่ๆ คงต้องเป็นภาระของกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงความมั่นคงฯ และกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะต้องวางเป้าหมายงานให้คนเหล่านั้น
อีก 2 ล้านคนเศษที่เหลือ คงต้องดูโครงการจากที่กระทรวงและจังหวัดส่งโครงการมาในงบ 4 แสนล้านบาท ซึ่งสภาพัฒน์ฯ กำลังคัดกรองกันอยู่ หวังว่าคงจะเลือกแต่โครงการที่สร้างคน สร้างอาชีพ สร้างงาน ช่วงระยะสั้น 1 ปี ตามที่สภาพัฒน์ฯวิเคราะห์ไว้ มั่นใจได้ว่ารัฐบาลคงแก้ไขได้กับการจ้างงานในช่วง 6 เดือน - 1 ปี ประเทศชาติจะได้ฟื้นเร็วขึ้น