ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2563 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือ อีเซอร์วิส ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดยร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯนี้ กำหนดให้ผู้ให้บริการอีเซอริวิสจากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แก่ลูกค้าในประเทศไทยที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีสำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ให้บริการจากต่างประเทศทำหน้าที่นำส่งภาษีแทนผ่านระบบบริการจดทะเบียนและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างง่าย ซึ่งทำให้การจับเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับแนวทางสากล โดยจะส่งร่างพระราชบัญญัตินี้ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กฎหมายดังกล่าว ทำให้กรมสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) กับผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ แม้จะไม่ได้มาจดทะเบียนในไทย ในปีแรกจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะผลจากโควิด -19 ทำให้ออนไลน์เติบโตมาก
“การดำเนินการครั้งนี้จะส่งผลโดยตรงต่อเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น การให้บริการรูปแบบต่างๆ เช่น ดาวน์
โหลดหนัง เพลง เกม การจองโรงแรม ซึ่งช่วยให้ซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศมีรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ปัจจุบันกรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการเหล่านี้ได้ ต่อไปนี้เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ยักษ์ดิจิทัลข้ามชาติอย่างเฟซบุ๊ค กูเกิล เน็ตฟลิกซ์ อะเมซอน บุ๊คกิ้ง อูเบอร์ฯลฯ หรือผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%”
ในขณะที่ท่าทีของ กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า พร้อมทำตามกฎหมายด้านภาษีในทุกประเทศที่กูเกิลเข้าไปทำธุรกิจ รวมถึงกฎหมายภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายอี-เซอร์วิส และเมื่อประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้กูเกิลก็พร้อมที่จะทำตาม ขณะที่ผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศอื่นๆยังไม่ได้แสดงความคิดเห็น แต่คาดว่าจะตอบรับนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่มีข้อมูลสถิติระบุว่าประเทศไทยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก ถึง 47 ล้านบัญชี
ส่วนกรณีทีมีกระแสความวิตกกังวลว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ จะส่งผล กระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มิได้เพิ่มภาระภาษีให้แก่ผู้ใช้บริการ เนื่องจากปัจจุบันผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินค่าบริการ ให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากรอยู่แล้ว กฎหมายฉบับนี้เป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศโดยตรง จึงเป็นการอำนวยความสะดวกและช่วยลดภาระของผู้ใช้บริการที่เป็นประชาชนทั่วไปในการยื่นแบบฯ และนำส่งภาษี ให้แก่กรมสรรพากรอีกด้วย
เราเห็นว่า กฎหมายดังกล่าว นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับประเทศแล้ว ยังสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศไทย กับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย