ดูเหมือนกรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จะเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เคลื่อนไหวอีกครั้ง
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสามารถกุมสภาพทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ จากวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และนับแต่การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ 2 เดือนกว่าที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส-19เริ่มคลี่คลาย ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของฝ่ายการเมืองให้ยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
กระนั้น แรงกระเพื่อมทางการเมืองที่เกิดจากภายนอก กลับรุนแรงไม่เท่าแรงกระเพื่อมภายใน ข่าวการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่อาจนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี กระทบไปยังพรรคร่วมรัฐบาล และแม้แต่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย
ท่ามกลางโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญเพราะในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังสวมหมวกหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ต้องกู้วิกฤติหลังถูกมรสุมเศรษฐกิจหลายลูกกระหน่ำ โดยเฉพาะพิษจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่ทำลายเศรษฐกิจทั่วโลก
แต่ถึงแม้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 กำลังจะไปสู่การพิจารณาผ่อนคลายในระยะที่ 4 ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัว -6% เนื่องจากตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ หดตัวเกือบทั้งหมด ซึ่งแม้ว่าไตรมาส 1 เศรษฐกิจจะหดตัวน้อยกว่าคาด แต่ในไตรมาส 2 จะหดตัวลึกที่สุดเป็นเลข 2 หลัก และในไตรมาส 3-4 จะติดลบน้อยลง เป็นผลจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่จะยังไม่เห็นเศรษฐกิจเป็นบวก
โดยในส่วนของการส่งออกทั้งปี คาดว่าจะหดตัว-6.1% จากเดิมคาด -5% โดยบางช่วงอาจเห็นติดลบเป็นตัวเลข 2 หลักได้เนื่องจากปัญหาซัพพลายเชนที่ขาดตอน จากการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยลดลง แม้ว่าการส่งออกในไตรมาสแรกจะยังเป็นบวก 1.19% แต่เป็นผลมาจากการส่งออกทองคำ ที่ช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. 2563 มูลค่าส่งออกทองคำอยู่ที่ 6,373 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบเท่ากับปี 2562 ทั้งปีที่มีมูลค่าที่ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้านการลงทุนภาคเอกชนน่าจะหดตัวมากขึ้น สะท้อนผ่านกำลังการผลิตที่เหลือมากกว่า 55% ส่วนหนึ่งมาจากการชะลอการตัดสินใจการลงทุน ทั้งในส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ พลังงาน ซึ่งมีผลกระทบในระยะข้างหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนทั้งปีน่าจะ -6.6%
มุมมองจีดีพีจะ -6% มาจากปัจจัยถดถอยของการบริโภคภาคครัวเรือนที่ติดลบมากขึ้น โดยทั้งปีการบริโภคเอกชนจะหดตัว -2.3% และการลงทุนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้ และเป็นตัวที่ทำให้การบริโภคไม่หดตัวลึกกว่าที่คาด โดยมาตรการทางการคลังเป็นเครื่องมือหลักในการพยุงเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการเยียวยาที่ครอบคลุมกว่า 31.55 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามว่า หลังจากมาตรการเยียวยาหมดลงในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. ทั้งในกลุ่มประกันสังคมและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นระดับล้านคนต่อเดือนเนื่องจากหลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์ การจ้างงานคงไม่กลับมาเป็นปกติเพราะยังต้องมีมาตรการเว้นระยะห่าง โดยเฉพาะในภาคบริการ ทำให้ยังมีคนว่างงานค้างอยู่ในระบบ จึงเป็นปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไขต่อไป
เราจึงเห็นว่า ช่วงเวลานี้คือการฟื้นฟูประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นนั้น ควรเป็นไปด้วยเหตุผลในการแก้ไขวิกฤติ โดยพล.อ.ประยุทธ์ต้องเอาเศรษฐกิจเป็นหลัก และการเมืองเป็นรอง เหือนกับที่พล.อ.ประยุทธ์ใช้สาธารณสุขนำจนกำราบโควิด-19